ประวัติ กศน.ตำบล
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศ จัดตั้งศูนย์ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ จำนวน ๑๒๕ แห่ง เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๓ และกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ดำเนินการขออัตรากำลังข้าราชการและเจ้าหน้าที่เพื่อประจำศูนย์ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ตลอดจนขอจัดตั้งงบประมาณสำหรับดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดกิจกรรมตามภารกิจ แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้อนุมัติอัตรากำลัง และงบประมาณของศูนย์ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม จึงมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ผปอ.) โดยมีภารกิจในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปในพื้นที่บริการของอำเภอนั้น ๆ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในกิจกรรมของการศึกษานอกโรงเรียน รวมทั้งการเชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้สมัครเข้าเรียนทั้งระบบสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อเป็นการส่งเสริมประชาชนให้มีการพัฒนาความรู้พื้นฐานและความรู้ด้านอาชีพที่ดี สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาระดับความเป็นอยู่อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะขยายการศึกษาภาคบังคับ เพื่อยกระดับความรู้ของประชาชนให้สอดคล้องกับความเจริญของประเทศ ตลอดจนเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระบบสารสนเทศและข่าวสารข้อมูล จึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในการที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชน ทั้งในระบบและนอกระบบ กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จบชั้นเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่ได้เข้าศึกษาต่อ แต่ไปประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยศูนย์ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ จะต้องจัดบริการการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาอาชีพอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ กรมการศึกษานอกโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนวิธีการ รูปแบบ และโครงสร้างของหน่วยงานในสังกัด ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศยกเลิกศูนย์ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ แล้วประกาศจัดตั้งศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) จำนวน ๗๘๙ แห่งทุกอำเภอทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๖ จนถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยปรับเปลี่ยนกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช ๒๕๕๑ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๔๑ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๑ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ได้ปรับเปลี่ยนหน่วยงานใหม่เป็นสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งผลให้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางคล้า (เดิม) เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบางคล้า ” สังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งอยู่บริเวณศูนย์ราชการอำเภอบางคล้า มีสำนักงานเชื่อมติดกับห้องสมุดประชาชนอำเภอบางคล้า โดยมีพิกัดที่ตั้งที่ x = ๑๓.๗๒๘๐๕๙ Y = ๑๐๑.๒๐๘๕๕๔ ปัจจุบัน มีนางสุทิศา ซุ่นคง ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา
สภาพชุมชนโดยรอบของสถานศึกษาอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอบางคล้า หน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น สำนักงานเทศบาลตำบลบางคล้า ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบางคล้า สถานีตำรวจอำเภอบางคล้า สำนักงานเกษตรอำเภอบางคล้า ที่ทำการไปรษณีย์ โรงเรียน ฯลฯ มีร้านค้า แหล่งเรียนรู้ บ้านเรือนประชาชน และเป็นเส้นทางไหลผ่านของแม่น้ำบางประกง จึงเกิดเป็นตลาดน้ำบางคล้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนโดยทั่วไป
เข้าชม : 1350 |