หลักสูตรเฉพาะคนพิการ
หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดแนวทางดำเนินงานไว้ว่า “ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ ผู้มีความสามารถพิเศษ การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัวและองค์กรต่าง ๆ การจัด การศึกษาดังกล่าวสถานศึกษาสามารถปรับมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้โดยการอนุมัติจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือหลักสูตรเฉพาะความพิการแต่ละประเภทของ กศน.ได้” ดังนั้น ในการจัดทำหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษาให้สถานศึกษาดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภท ตามรูปแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่สถานศึกษาเห็นสมควร โดยดำเนินการดังนี้
- วิเคราะห์หลักสูตร
- วิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการ และชุมชน
- กำหนดโครงสร้างหลักสูตรและหน่วยการเรียนรู้ของสถานศึกษา
- จัดทำแผนการเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาพิการและ ผู้ดูแลคนพิการ
2.11 การวัดและประเมินผลการเรียน
การวัดและประเมินผลการเรียน เป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงการพัฒนาความก้าวหน้า ความสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาพิการ และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์เกิดการพัฒนาและเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เกิดทักษะกระบวนการและค่านิยมที่พึงประสงค์ ซึ่งสถานศึกษาในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาจะต้องจัดทำระเบียบและแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
การวัดและประเมินผล มี 2 ระดับ คือ
1)ประเมินในระดับสถานศึกษา เป็นการดำเนินการวัดผลการเรียนเป็นรายวิชา ประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตและการประเมินคุณธรรม
2)การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ สถานศึกษาต้องจัดให้นักศึกษาพิการเข้ารับการประเมินในภาคเรียนสุดท้ายก่อนสอบปลายของภาคเรียนนั้น ๆ โดยไม่มีผลต่อการได้หรือตกของนักศึกษาพิการ
การวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นรายวิชา ให้สถานศึกษาดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล ตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่สถานศึกษาเห็นสมควร ตามกรอบการวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังนี้
1)กรณีคนพิการที่สามารถเรียนได้เหมือนคนปกติทั่วไปให้ใช้เกณฑ์การประเมินผลในรายวิชานั้น ๆ ตามปกติ
2)กรณีคนพิการที่สามารถเรียนร่วมกับคนปกติทั่วไปได้ แต่มีปัญหาข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่อการเรียนรู้ต้องพิจารณาปรับวิธีการประเมิน การกำหนดเวลาในการประเมิน อุปกรณ์และเครื่องมือวัดผล สิ่งจำเป็นอื่น ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล
3)กรณีนักศึกษาพิการรุนแรง มีปัญหาไม่สามารถเรียนในรายวิชาใดให้ประเมินผลตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) เป็นการประเมินเฉพาะบุคคลไม่ต้องเปรียบเทียบกับนักศึกษาปกติ สามารถใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การตอบคำถาม การปฏิบัติจริง ฯลฯ
การรายงานผลการวัดและประเมินผลนักศึกษาพิการ
1)กรณีคนพิการที่สามารถเรียนได้เหมือนคนปกติทั่วไปให้ดำเนินการรายงานผล การวัดและประเมินผลตามระเบียบและเงื่อนไขหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
2)กรณีคนพิการที่สามารถเรียนร่วมกับคนปกติทั่วไปได้แต่มีปัญหาข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่อการเรียนรู้แต่ได้รับการพิจารณาให้ปรับวิธีการประเมิน การกำหนดเวลาในการประเมิน อุปกรณ์และเครื่องมือวัดผล สิ่งจำเป็นอื่น ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล ให้ดำเนินการรายงานผลการประเมินตามระเบียบและเงื่อนไขตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
3)กรณีนักศึกษาพิการรุนแรง มีปัญหาไม่สามารถเรียนในรายวิชาใด ให้ประเมินผลตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) เป็นการประเมินเฉพาะบุคคลไม่ต้องเปรียบเทียบกับนักศึกษาปกติ สามารถใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การตอบคำถาม การปฏิบัติจริง ฯลฯ โดยเลือกใช้วิธีการประเมินให้สอดคล้องและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล ให้สถานศึกษารายงานผลความก้าวหน้าของนักศึกษาตามที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) เป็นระยะ ๆ และให้นำรายงานดังกล่าวแนบผลการเรียนในแต่ละภาคเรียนเพื่อให้ผู้ดูแลคนพิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ
เอกสารหลักฐานการศึกษา
เอกสารหลักฐานการศึกษาให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด สถานศึกษาทุกแห่งต้องใช้เอกสารหลักฐานการศึกษาเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ในการสื่อความเข้าใจที่ตรงกันและการส่งต่อ ได้แก่
1)ระเบียนแสดงผลการเรียน
2)หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา (ประกาศนียบัตร)
3)แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา
4)แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP)
5)รายงานผลการประเมินการดำเนินการตามแผน
6)แฟ้มประวัติและแฟ้มสะสมผลการเรียนของนักศึกษา
เอกสารหลักฐานการศึกษาอื่น ๆ สถานศึกษาต้องพิจารณาจัดทำเพื่อใช้ประกอบการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตามที่เห็นสมควร เช่น แบบประเมินผลกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต การประเมินคุณธรรม