[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
   กลับหน้าหลัก

ประวัติตำบลบ้านโพธิ์

                   การตั้งชุมชนของคนในสมัยโบราณมักเลือกทำเลอยู่ใกล้แหล่งน้ำ  เมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนหลายครัวเรือนมากขึ้น  ก็เกิดเป็นหมู่บ้าน  แล้วสร้างวัด  หรือ ศาสนสถานเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ถ้าหากจะคะเนว่าชุมชนใดมีอายุเท่าใด  หลัก ฐานที่พอจะเป็นที่เชื่อถือได้ก็คือ วัด หมู่บ้านสนามจันทร์เกิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานบ่งบอกได้เลย แต่ถ้าดูจากการสร้างวัดสนามจันทร์ ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ บ้านสนามจันทร์มีอายุถึง ๑๕๐ ปี  ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖  ตำบลบ้านโพธิ์ในปัจจุบัน มีชื่อว่าตำบลสนามจันทร์ ดังรายงานการตรวจราชการมณฑลปราจีน ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์  กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เรื่องการยุบอำเภอหัวไทร ไปรวมกับอำเภอบางคล้า และจัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ความว่า ถ้าดูตามลำน้ำที่ว่าการอำเภอหัวไทรกับอำเภอบางคล้าห่างกันทางราว 1 ชั่วโมง เห็นด้วยเกล้าฯว่าควรจะยกเลิกอำเภอหัวไทรเสีย คงย้ายไปตั้งตำบลสนามจันทร์ ที่จะเรียกนามอำเภอสนามจันทร์ ใต้เมืองฉะเชิงเทราและ อีกข้อความหนึ่งในความว่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านมาก ควรแบ่งท้องที่ตั้งเป็นอำเภอขึ้นอีกหนึ่งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอถ้าไปตั้งในคลองประเวศบุรีรมย์ก็ไม่อยู่กึ่งกลางท้องที่ จึงเลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์เป็นที่ตั้งอำเภอ ความกราบบังคมทูลดังนี้ ราษฎร ที่อยู่ทางลำน้ำไปมาลำบากเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรตั้งที่ลำน้ำเมืองฉะเชิงเทรา เหนือปากคลองสนามจันทร์ เพราะเป็นท้องที่ มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่โดยรอบ แลเป็นทำเลโจรผู้ร้ายปล้นสะดมชุกชุม ส่วนนามอำเภอเรียกว่า อำเภอสนามจันทร์  เกล้าฯ ได้เลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแลจะยกโรงตำรวจภูธร ที่อำเภอหัวไทรมาตั้งอยู่ที่อำเภอสนามจันทร์ด้วย

                   สรุป ได้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลปราจีน เป็นผู้จัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ โดยแยกออกมาจากอำเภอเมือง
ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่  ๑  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๔๗  ใช้ชื่อว่า  อำเภอสนามจันทร์  ตามชื่อหมู่บ้าน  และตำบลที่ตั้งอำเภอ  ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งอำเภอ คือ
บ้านสนามจันทร์ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลักแรก เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรก  คือ ขุนประจำจันทเขตต์ (ชวน)

                   เหตุที่ชื่อบ้านสนามจันทร์ มีประวัติเล่ากันว่า สมัยที่ท้องที่ยังเป็นป่าอยู่ มีเสือชุกชุม มีพระยา ๓ ท่าน  ออกมาตั้งจั่นดักเสือที่หนองน้ำแห่งหนึ่ง ราษฎรจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า หนองสามพระยาและเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสนามจั่น  เรียกขานกันนานเข้าจึงเพี้ยนเป็นบ้านสนามจันทร์  ส่วนหนองสามพระยาได้ตื้นเขินเป็นพื้นนา  ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์

                   ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๗ พ.ศ. ๒๔๔๙  มีการปรับแก้ไขเขตของหมู่บ้าน และตำบลตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ รศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐)  มาตรา  ๒๒  แนวทางการกำหนด เขตตำบล ดังนี้ หลายหมู่บ้านรวมกันราว ๑๐ หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบล ๑ ให้ ผู้ว่าราชการเมืองปักหมายเขตตำบลนั้นให้ทราบได้โดยชัดเจนว่าเพียงใด ถ้าที่หมายเขตไม่มีลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง หรือ สิ่งใด เป็นสำคัญได้ ก็ให้ผู้ว่าราชการเมืองจัดให้มีหลักปักหมายเขตอันจะถาวรอยู่ไปได้ยืนนาน

                   หมาย ความว่าการกำหนดเขตตำบลให้ใช้ ลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง เป็นแนวเขต ตำบลสนามจันทร์เมื่อก่อนนี้เข้าใจว่ามีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ จึงถูกแบ่งเขตออกจากกัน  โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นแบ่งเขต  พื้นที่ ทางฝั่งขวายังคงใช้ชื่อตำบลสนามจันทร์เหมือนเดิม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่มากกว่า ส่วนทางฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอตั้งชื่อใหม่ว่า ตำบลบ้านโพธิ์ มีหลักฐาน คือ โฉนดที่ดินที่ออกให้ราษฎรเมื่อ รศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านโพธิ์แล้ว

                   เหตุที่ตั้งชื่อว่า บ้านโพธิ์ เนื่องจากถิ่นนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ทั่วไป เมื่อก่อนวัดสนามจันทร์ก็มีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้น  ชาวบ้านมีความเคารพเพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเอาผ้าเหลืองห่มต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

                   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และ ทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบ แบบเสือป่า เพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกันประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่อ อำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเขาดิน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ ลงวันที่  ๒๐  กรกฎาคม  ๒๔๕๗  สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ เขาดินอยู่ชายแดนติดต่อกับอำเภอบางปะกง เป็นเนินหินแกรนิต สูงประมาณ ๑๕  เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาดิน ภายในวัดมีมณฑปร้างเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เหตุที่เอาเขาดินมาตั้งเป็นชื่ออำเภอแทนสนามจันทร์ คงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  เคยเสด็จประพาสวัดเขาดิน  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ ซึ่งถือเป็นความปีติและเป็นสิริมงคล จึงเอาชื่อเขาดินมาเป็นชื่ออำเภอ

                   ต่อมาปรากฏว่าเขาดินอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จึงเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่ง จากเขาดินมาเป็น อำเภอบ้านโพธิ์  ตามชื่อของตำบล  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐  (ตามรายงานกิจการจังหวัดประจำปี ๒๔๐๑-๒๕๐๒) อำเภอ บ้านโพธิ์มีแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติไหลผ่าน พื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอบ้านโพธิ์เป็นที่ราบลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนา มีสวนบ้างเล็กน้อย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง พื้นดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวโดยทั่วไป ในสมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ

อาคารที่ว่าการอำเภอหลังแรกหลังคามุงจาก  หลังต่อมาปลูกสร้างเป็นอาคารไม้  ๒  ชั้น  หลังคามุงกระเบื้อง หันหน้าสู่แม่น้ำบางปะกง  ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ หลังที่  ๓  ขยับเข้ามาสร้างริมถนนเป็นอาคารไม้  ๒  ชั้น  แบบสมัยใหม่  ปัจจุบันได้รื้อหลังเก่า และก่อสร้างหลังใหม่ในที่เดิม  ซึ่งจะทำการเปิดที่ว่าการหลังใหม่  ในวันที่  ๑๕  มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗  พร้อมทั้งเฉลิมฉลองในวาระที่อำเภอมีอายุครบ ๑๐๐ ปีด้วย

 

                   ตั้งแต่ตั้งอำเภอมา  มีนายอำเภอปกครองรวม  ๔๑  คน  โจรผู้ร้ายที่ว่าชุมชุมก็หมดไป ชาวอำเภอบ้านโพธิ์  มีความเป็นอยู่ที่สงบสุข เรียบง่าย แม้ในปัจจุบันการทำมาหากินเปลี่ยนไปจากเดิม  สภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน  คือ  ความสำนึกรักบ้านเกิด และความกตัญญูต่อแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้บ้านโพธิ์มีความยั่งยืนตลอดไป



เข้าชม : 1081
 
กศน.ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์  จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางสาวสมฤทัย คำด้วง  โทรศัพท์ 093-0635303 
E-mail : nfeeast_banpho@dei.ac.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04tb    Admin