ประวัติตำบลเทพราช
ประวัติตำบลเทพราช
ตำบลเทพราช ตั้งอยู่สองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ ตำบลเทพราชไม่ปรากฏว่ามีมาแต่สมัยใด ทั้งสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “เทพราช” คนชราเล่าสืบต่อกันมาว่าก่อนปี พ.ศ. 2420 พระยาประเวศบุรีรมย์ได้รับมอบหมาย ให้เป็นแม่กองคุมคนจีนขุดคลองเชื่อมแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาตรงพระโขนงกับแม่น้ำบางปะกงตรงท่าถั่ว เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือและการชลประทานช่วยในการเกษตร คลองที่ขุดมีขนาดกว้าง 4 วา ขุดตามวิถีกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงไป สองฝั่งคลองมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง น้ำไหลเซาะดินริมฝั่งคลองพังทลาย หญ้าแขมขึ้นปกคลุมสร้างความเดือดร้อนกับผู้สัญจรไปมา ในปี พ.ศ. 2420 พระยาราชโกษา เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “คุณพระ” ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่กองคุมคนจีนขุดคลองสายนี้อีกครั้งหนึ่งและได้ชื่อต่อมาว่า “คลองประเวศบุรีรมย์” ตามบรรดาศักดิ์ของพระยาประเวศบุรีรมย์
เมื่อทางราชการขุดคลองประเวศบุรีรมย์เสร็จได้ 4 ปี แขวงกลั่น มีบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นบุรีรักษา (ต้นสกุลกลั่นเจริญ) ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านใหญ่บางปรง คลองบางพระ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ย้ายครอบครัวมาอยู่ในนาของตนริมฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ บริเวณปากคลองแขวงกลั่น (หมู่ 2 ปัจจุบัน)
ขณะนั้นขุนเทพราช ซึ่งเป็นผู้ดูแลอยู่ในเขตนี้ ร่วมกันชักชวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงสองฝั่งคลองสร้างวัดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2424 เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลโดยตาวัน อุทิศถวายที่ดิน พื้นที่บริเวณที่สร้างวัดมีลักษณะเทลาด และผู้ดูแลท้องที่มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเทพราช เมื่อสร้างวัดเสร็จให้ชื่อว่า “วัดเทพราช” แขวงกลั่นได้อาราธนาพระอาจารย์อนุเทศแห่งวัดบางปรงมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาหมู่บ้านมากขึ้นขยายเป็นตำบลให้ชื่อว่า “ตำบลเทพราช” ตามชื่อวัดที่ปรากฏในปัจจุบัน
ตำบลเทพราชมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองประเวศบุรีรัมย์เป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน พื้นที่ของเทศบาลฯเป็นแนวยาวขนานกับถนนโยธาธิการ 2 สาย เดิมมีชื่อว่า "ตำบลเทลาด" เพราะเป็นพื้นที่ทางน้ำไหล ลงตำมาก ประชาชนจึงเรียกว่า "ตำบลเทลาด" ต่อมาเพื่อให้ชื่อของตำบล ฟังแล้วมีความไพเราะ จึงตั้งชื่อใหม่ว่า "ตำบลเทพราช"
เข้าชม : 1250 |