รายละเอียด : ตั้งอยู่ในเขตตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และเทศบาลตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ในอดีตคลองสวนเป็นเส้นทางทางน้ำสำหรับเดินทางไปกรุงเทพฯ จากประตูน้ำท่าถั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล่นผ่านตลาดคลองสวน เข้าสู่ประตูน้ำวังสระปทุม กรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวคลองสวนทั้งชาวไทยจีน ไทยมุสลิม ไทยพุทธ วัฒนธรรมผสมผสานการดำรงชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศของวิถีชีวิตร่วมสมัยอายุนับ 100 ปี ชวนชิมอาหารอร่อย ขนมหวาน และกาแฟสูตรโบราณรสอร่อย
ลักษณะเด่น :
ตลาดคลองสวนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือเป็นศูนย์รวมของผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา คือ ชาวพุทธ ชาวจีน และชาวอิสลาม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ก็ยังมีเรือนแถวไม้สมัยโบราณซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตลาดคลองสวน
ประวัติ :
ตลาดคลองสวน 100 ปี ตั้งอยู่ริมคลองประเวศน์บุรีรมย์ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ตำบล เทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ตลาดคลองสวนเป็นตลาดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หากย้อนกลับไปในอดีต การเดินทางโดยเรือจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด ถ้าเดินทางจากฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพ ฯ จะต้องใช้เรือเมล์ขาวของนายเลิศซึ่งมีเพียงลำเดียว รับคนจากประตูน้ำท่าถั่ว (ฉะเชิงเทรา) ผ่านตลาดคลองสวน ก่อนจะแล่นเข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพมหานคร เมื่ออดีตตลาดคลองสวนเป็นจุดแวะพักและเป็นศูนย์รวมของชุมชน จุดแลกเปลี่ยนสินค้าและเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญและสะดวกที่สุด หากมีงานกุศล เช่น การขุดคลอง ทำถนน ต่างก็จะมาร่วมแรงร่วมใจพัฒนาสาธารณูปโภคร่วมกัน จุดพบปะคือร้านกาแฟ ทุกคนแม้ต่างศาสนาก็สามารถเข้ามาที่จุดนัดพบแห่งนี้ได้มาแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์การดำเนินชีวิต พูดคุยเรื่องข่าวสารเหตุบ้านการเมือง ร้านกาแฟจึงเป็นเสมือนสิ่งเสพติดที่ผู้คนในชุมชนต้องมาพบกันเป็นประจำทุกเช้าอย่างขาดเสียมิได้ แม้ในทุกวันนี้ร้านกาแฟ ก็ยังเป็นจุดนัดพบของชุมชน ตลาดคลองสวนเริ่มก่อตั้งตลาดในปีพ.ศ. 2444 โดยใช้ชื่อว่า ตลาดสามพี่น้อง สภาพตลาดเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เสาอาคารใช้ไม้ “เหลาชะโอน” ต่อมาในปีพ.ศ. 2477 จึงเปลี่ยนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น อยู่ริมน้ำ และบริเวณหัวมุมตลาดเป็นเส้นแบ่งของจังหวัด โดยมีคลองสำคัญคือ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพญานาคราช โดยมีเรือสัญจรเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการเรียกขานตลาดแห่งนี้จนถึงปัจจุบันว่า “ตลาดคลองสวน” เป็นศูนย์รวมการค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากัน อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของผู้คนทั้งชาวจีน ชาวพุทธ และอิสลาม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบ ปัจจุบันตลาดแห่งนี้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมอีกแห่งหนึ่ง จึงทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนเป็นกลุ่มชุมชน จัดตั้งเป็นชุมชนชาวตลาดโดยอยู่ในความดูแลของชุมชนโดยชุมชน