[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 
   กลับหน้าหลัก

การศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

 โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 5 สาระการเรียนรู้ ได้แก่

1.ทักษะการเรียนรู้
2.ความรู้พื้นฐาน
3.การประกอบอาชีพ
4.ทักษะการดำเนินชีวิต
5.การพัฒนาสังคม


     แต่ละสาระประกอบด้วยรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก ตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในโครงสร้างรายวิชาที่เลือกนั้นผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามความต้องการของตนเองและในการเรียนแต่ละระดับผู้เรียนต้องทำ กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต(กพช.) ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง

ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า  48  หน่วยกิต
     แบ่งเป็นวิชาบังคับ  36  หน่วยกิต  และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า  12  หน่วยกิตให้ลงทะเยนเรียนได้ภาคละไม่เกิน  14  หน่วยกิต 
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่น้อยกว่า 56  หน่วยกิต
    แบ่งเป็นวิชาบังครับ  40 หน่วยกิต  และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า  16  หน่วยกิตให้ลงทะเยนเรียนได้ภาคละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่น้อยกว่า  76  หน่วยกิต
     แบ่งเป็นวิชาบังคับ  44 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า  32 หน่วยกิตให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 20  หน่วยกิต
วิธีการจัดการเรียนรู้
     วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ วิธีเรียน กศน. ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้แบบอื่นๆซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย  

วิธีการจัดการเรียนรู้
         วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ “วิธีเรียน กศน.” ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น 
         -   การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
         -   การเรียนรู้ด้วยตนเอง
         -   การเรียนรู้แบบทางไกล
         -   การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         -   การเรียนรู้แบบอื่นๆ
         ซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย

    1. การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
         เป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกันทุกสัปดาห์ ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ใช้เวลาในการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
            จัดพบกลุ่มในรายวิชาที่ยากปานกลาง
            น้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับครู
            ผู้เรียนมีการศึกษาค้นคว้างานเดี่ยว งานกลุ่ม ทำโครงงาน
            ครูจัดกระบวนการกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดแทรกกระบวนการคิดเป็นให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ในแต่ละรายวิชาที่เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ
            มีการสอบย่อย (QUIZ)
            พบกลุ่มสัปดาห์ละ 3 ชม. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าสามารถจัดเวลาพบกลุ่มได้มากขึ้นจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง

         การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม ควรดำเนินการ ดังนี้
         1). การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่มโดยผู้เรียน ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่แล้ว ครูทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และสรุปองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
         2
). การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนร่วมกันไว้แล้วระหว่างครูและผู้เรียน โดยครูเป็นผู้จัดกระบวนเรียนรู้ เพิ่มเติมความรู้หรือเนื้อหาสาระที่จำเป็น ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม (โดยเฉพาะในเนื้อหายากที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์)
         
3). การนำเสนอโครงงาน โดยผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถามให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดทางความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานเช่นนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
         
4). การสอบย่อย (QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจสาระเนื้อหา โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อทดสอบย่อย ในลักษณะ ถาม-ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามแบบเขียนสั้น ๆ ในลักษณะการสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้น ของตัวผู้เรียนเอง
         
5). การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ “คิดเป็น” ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์จริง ข่าว นสพ.บทความ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียนรู้ ครูทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาการพบกลุ่ม โดยครูควรตั้งคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้คิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบจากประเด็นปัญหา และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการมาพบกลุ่ม 
         
6). การฝึกให้ผู้เรียนได้แสดงออกเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและการจับประเด็นสำคัญ การพูด/การเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ ฯลฯ
         
7). การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง เป็นการกำหนดข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มการนัดหมายกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนต้องทำระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ครูจะต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ โดยเน้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่จะมานำเสนอสัปดาห์ต่อไป และกำหนดภารกิจสำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
         8). การติดตามและช่วยเหลือ อาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน กลุ่มเพื่อนจัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน

     2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
         ป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยระบุว่ากระบวนการเรียนรู้แต่ละครั้งเกิดขึ้นได้อย่างไร เรียนรู้ด้วยวิธีการใด มีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบอย่างไร และมีครูเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ

        ลักษณะของผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง
         1. มีความสมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
         
2. ใช้ตนเองเป็นแหล่งข้อมูล นั่นคือผู้เรียนสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ตนจะเรียนคืออะไร รู้ว่าทักษะและข้อมูลที่ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง สามารถกำหนดเป้าหมาย วิธีการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ และวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ ผู้เรียนรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีการรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทในการเป็นผู้เรียนที่ดี
         
3. รู้ “วิธีการที่จะเรียน” นั่นคือ ผู้เรียนควรทราบขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะไปสู่จุดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร
         
4. มีบุคลิกภาพเชิงบวก มีแรงจูงใจ และการเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
         
5. มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียนและสนุกสนานกับกระบวนการเรียน
         
6. มีการเรียนจากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินตนเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
         
7. มีความพยายามในการหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
         
8. มีการชี้แนะ การอภิปรายในห้องเรียน การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้สอน
         
9. มีการรวบรวมข้อมูลจากการได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคลและมีวิธีการนำข้อมูลที่ได้
ไปใช้

         ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
            ผู้เรียนมีความสมัครใจ มีความพร้อม ศึกษาวิธีการเรียนให้เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีความรับผิดชอบ
         
   ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้รายบุคคลให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
         
   ผู้เรียนกำหนดสื่อที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เอกสารแบบเรียน ชุดการสอน ผู้รู้ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ซีดี แหล่งเรียนรู้ เพื่อนเรียนรู้ ฯลฯ
         
   จัดทำสัญญาการเรียนรู้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างครูกับผู้เรียน
         
   พบครู ให้คำปรึกษา แนะนำในการเรียน ประมาณ 2-4 ครั้ง/ภาคเรียน
            สถานศึกษาและครูมีบทบาทในการจัดเตรียม อำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

         การเรียนรู้ด้วยตนเอง ควรดำเนินการ ดังนี้
         1). การวิเคราะห์และการกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยผู้เรียนควรคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของตนเองเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะเรียน
         
2). การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยผู้เรียนศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชาแล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน จุดมุ่งหมายควรเน้นถึงพฤติกรรมที่ผู้เรียนคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น เป็นจุดมุ่งหมายที่สามารถวัดได้ และจุดมุ่งหมายของผู้เรียนในแต่ละระดับควรมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
         
3). การวางแผนการเรียน โดยให้ผู้เรียนกำหนดแนวทางการเรียนของตนเองขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาการเรียน โดยกำหนดปริมาณเวลา(จำนวนชั่วโมง/จำนวนครั้ง) ที่ต้องการพบครูเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำหรือให้ครูสอน กำหนดเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้เรียนคนอื่น กำหนดเวลาที่ต้องการเรียนด้วยตนเอง พร้อมทั้งกำหนดว่ากิจกรรมการเรียนจะสิ้นสุดเมื่อใด
         
4). การเลือกรูปแบบการเรียน/กิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง/แหล่งวิทยากร/สื่อที่จะใช้ในการเรียนด้วยตนเอง เช่น อ่านหนังสือประกอบ ดูวีซีดี ศึกษาจากสื่อคอมพิวเตอร์ ศึกษาจากผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย
         
5). การกำหนดบทบาทของผู้ช่วยเหลือในการเรียน เนื่องจากบางครั้งผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
         6). การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ควรเป็นการประเมินผลร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน โดยครูและผู้เรียนร่วมกันตั้งเกณฑ์การประเมินผลร่วมกัน เลือกประเภทของการทดสอบ ลักษณะของการ Feedback ที่จะใช้

        การจัดทำสัญญาการเรียนรู้
         ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ผู้เรียนต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียน หรือ สัญญาการเรียน ของตนเองให้ไว้กับครู เพื่อที่ครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนแต่ละคน
สัญญาการเรียน (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครู ว่าเขาต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างในการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
ในสัญญาการเรียน ผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนเองโดยระบุว่า ต้องการเรียนเรื่องอะไร จะวัดว่าได้บรรลุตามความมุ่งหมายแล้วหรือไม่ อย่างไร มีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้างที่บ่งบอกถึงผลการเรียนของผู้เรียนว่าผลการเรียนเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วสำเนาส่งให้ครูเก็บไว้ 1 ชุด เพื่อติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
แบบฟอร์มหรือตารางของการเขียนสัญญาการเรียน อาจประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
         
1). จุดมุ่งหมาย เป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนต้องการบรรลุผลสำเร็จในเรื่องอะไร อย่างไร
         
2). แหล่งวิทยาการ/วิธีการเป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้อย่างไรจากแหล่งความรู้ใด
         
3). หลักฐาน เป็นส่วนที่มีสิ่งอ้างอิงหรือยืนยันเป็นรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้แล้ว โดยเก็บรวบรวมเป็นแฟ้มสะสมงาน
         4). การประเมินผล เป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ในระดับใด

     3. การเรียนรู้แบบทางไกล
         เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็คทรอนิคส์เป็นส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้แบบ e-learning

       ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบทางไกล
         1. ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์ทางอิเล็คทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
         2. มีเวลาสื่อสารทางสื่ออิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน เช่น Chat room, E-mail, Web board, Blog, facebook ฯลฯ
         3. สถานศึกษาและครูมีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล หรือ อำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือ แนะนำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

         การเรียนรู้แบบทางไกล ควรดำเนินการ ดังนี้
            การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
            การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
         
   การประเมินความรู้ก่อนเรียนของตนเอง
         
   การศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานตามที่กำหนด
         
   การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อซักถาม นัดหมาย ขอคำปรึกษา ฯลฯ
            การประเมินความรู้หลังเรียนของตนเอง

     4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
          เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่ชัดเจน ซึ่งการจัดการเรียนรู้นี้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ

        
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         
1. สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียน ตารางเรียนที่เหมาะสม
         
2. มีการประชาสัมพันธ์สถานที่ วัน เวลา ครูผู้สอน ให้ผู้เรียนทราบทั่วกัน
         
3. สถานศึกษาจัดหาสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนเช่น เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ โสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         
4. ผู้เรียนต้องมีเวลาเข้าชั้นเรียนตามที่กำหนดในตารางเรียน


        การจัดกระบวนการเรียนรู้ 
         1. การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยมีครู/ผู้รู้/ ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ในการถ่ายทอดเนื้อหาของครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม แสดงความคิดเห็นได้ โดยเพิ่มการเขียนถาม/ตอบ หลังการบรรยาย รวมทั้งมีการจัดโอกาสให้ฝึกในห้องปฏิบัติการ และจัดเวลาการให้คำปรึกษา
         2. การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครู และผู้เรียนกับผู้เรียน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบพร้อมกับใช้กิจกรรมลักษณะที่เน้นการสื่อสาร เช่น กิจกรรมคู่ กิจกรรมกลุ่ม และการจัดที่นั่งในชั้นเรียนต้องเหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม
         3. การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน ใช้การแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยที่แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดการเรียนการสอนครูจะสอดแทรกกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนได้รับข้อมูล/ข้อเท็จจริง กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการได้ลงมือปฏิบัติ/สังเกต และกิจกรรมการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
         4. การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน โดยอาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน/กลุ่มเพื่อน จัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างครูกับผู้เรียน ใช้ผู้ช่วยสอน ใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน ใช้แฟ้มสะสมผลงาน ใช้การเรียนแบบทีม ใช้ e-mail, discussion boards และ internet เป็นต้น
         การเรียนรู้แบบต่าง ๆ  ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนด โดยในแต่ละรายวิชาจะเลือกการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาในรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของผู้เรียน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย และสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ในทุกรูปแบบการเรียนรู้ เพิ่มเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้



เข้าชม : 1092
 
กศน.ตำบลบางตลาด อำเภอคลองเขื่อน  จังหวัดฉะเชิงเทรา 
โทรศัพท์ ๐๓๘-๕๗๙๐๘๒ โทรสาร ๐๓๘-๕๐๙๒๔๙ E-mail : kaew_565@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04tb    Admin