วิธีการจัดการเรียนรู้
วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ “วิธีเรียน กศน.” ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น
- การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
- การเรียนรู้ด้วยตนเอง
- การเรียนรู้แบบทางไกล
- การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
- การเรียนรู้แบบอื่นๆ
ซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย
1. การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
เป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกันทุกสัปดาห์ ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ใช้เวลาในการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
จัดพบกลุ่มในรายวิชาที่ยากปานกลาง
น้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับครู
ผู้เรียนมีการศึกษาค้นคว้างานเดี่ยว งานกลุ่ม ทำโครงงาน
ครูจัดกระบวนการกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดแทรกกระบวนการคิดเป็นให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ในแต่ละรายวิชาที่เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ
มีการสอบย่อย (QUIZ)
พบกลุ่มสัปดาห์ละ 3 ชม. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าสามารถจัดเวลาพบกลุ่มได้มากขึ้นจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง
การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม ควรดำเนินการ ดังนี้
1). การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่มโดยผู้เรียน ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่แล้ว ครูทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และสรุปองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
2). การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนร่วมกันไว้แล้วระหว่างครูและผู้เรียน โดยครูเป็นผู้จัดกระบวนเรียนรู้ เพิ่มเติมความรู้หรือเนื้อหาสาระที่จำเป็น ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม (โดยเฉพาะในเนื้อหายากที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์)
3). การนำเสนอโครงงาน โดยผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถามให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดทางความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานเช่นนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
4). การสอบย่อย (QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจสาระเนื้อหา โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อทดสอบย่อย ในลักษณะ ถาม-ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามแบบเขียนสั้น ๆ ในลักษณะการสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้น ของตัวผู้เรียนเอง
5). การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ “คิดเป็น” ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์จริง ข่าว นสพ.บทความ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียนรู้ ครูทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาการพบกลุ่ม โดยครูควรตั้งคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้คิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบจากประเด็นปัญหา และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการมาพบกลุ่ม
6). การฝึกให้ผู้เรียนได้แสดงออกเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและการจับประเด็นสำคัญ การพูด/การเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ ฯลฯ
7). การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง เป็นการกำหนดข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มการนัดหมายกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนต้องทำระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ครูจะต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ โดยเน้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่จะมานำเสนอสัปดาห์ต่อไป และกำหนดภารกิจสำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
8). การติดตามและช่วยเหลือ อาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน กลุ่มเพื่อนจัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน
2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
ป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยระบุว่ากระบวนการเรียนรู้แต่ละครั้งเกิดขึ้นได้อย่างไร เรียนรู้ด้วยวิธีการใด มีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบอย่างไร และมีครูเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ
ลักษณะของผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง
1. มีความสมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
2. ใช้ตนเองเป็นแหล่งข้อมูล นั่นคือผู้เรียนสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ตนจะเรียนคืออะไร รู้ว่าทักษะและข้อมูลที่ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง สามารถกำหนดเป้าหมาย วิธีการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ และวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ ผู้เรียนรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีการรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทในการเป็นผู้เรียนที่ดี
3. รู้ “วิธีการที่จะเรียน” นั่นคือ ผู้เรียนควรทราบขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะไปสู่จุดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร
4. มีบุคลิกภาพเชิงบวก มีแรงจูงใจ และการเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
5. มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียนและสนุกสนานกับกระบวนการเรียน
6. มีการเรียนจากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินตนเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
7. มีความพยายามในการหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
8. มีการชี้แนะ การอภิปรายในห้องเรียน การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้สอน
9. มีการรวบรวมข้อมูลจากการได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคลและมีวิธีการนำข้อมูลที่ได้
ไปใช้
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ผู้เรียนมีความสมัครใจ มีความพร้อม ศึกษาวิธีการเรียนให้เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีความรับผิดชอบ
ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้รายบุคคลให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
ผู้เรียนกำหนดสื่อที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เอกสารแบบเรียน ชุดการสอน ผู้รู้ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ซีดี แหล่งเรียนรู้ เพื่อนเรียนรู้ ฯลฯ
จัดทำสัญญาการเรียนรู้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างครูกับผู้เรียน
พบครู ให้คำปรึกษา แนะนำในการเรียน ประมาณ 2-4 ครั้ง/ภาคเรียน
สถานศึกษาและครูมีบทบาทในการจัดเตรียม อำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย
การเรียนรู้ด้วยตนเอง ควรดำเนินการ ดังนี้
1). การวิเคราะห์และการกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยผู้เรียนควรคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของตนเองเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะเรียน
2). การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยผู้เรียนศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชาแล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน จุดมุ่งหมายควรเน้นถึงพฤติกรรมที่ผู้เรียนคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น เป็นจุดมุ่งหมายที่สามารถวัดได้ และจุดมุ่งหมายของผู้เรียนในแต่ละระดับควรมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
3). การวางแผนการเรียน โดยให้ผู้เรียนกำหนดแนวทางการเรียนของตนเองขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาการเรียน โดยกำหนดปริมาณเวลา(จำนวนชั่วโมง/จำนวนครั้ง) ที่ต้องการพบครูเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำหรือให้ครูสอน กำหนดเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้เรียนคนอื่น กำหนดเวลาที่ต้องการเรียนด้วยตนเอง พร้อมทั้งกำหนดว่ากิจกรรมการเรียนจะสิ้นสุดเมื่อใด
4). การเลือกรูปแบบการเรียน/กิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง/แหล่งวิทยากร/สื่อที่จะใช้ในการเรียนด้วยตนเอง เช่น อ่านหนังสือประกอบ ดูวีซีดี ศึกษาจากสื่อคอมพิวเตอร์ ศึกษาจากผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย
5). การกำหนดบทบาทของผู้ช่วยเหลือในการเรียน เนื่องจากบางครั้งผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
6). การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ควรเป็นการประเมินผลร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน โดยครูและผู้เรียนร่วมกันตั้งเกณฑ์การประเมินผลร่วมกัน เลือกประเภทของการทดสอบ ลักษณะของการ Feedback ที่จะใช้
การจัดทำสัญญาการเรียนรู้
ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ผู้เรียนต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียน หรือ สัญญาการเรียน ของตนเองให้ไว้กับครู เพื่อที่ครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนแต่ละคน
สัญญาการเรียน (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครู ว่าเขาต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างในการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
ในสัญญาการเรียน ผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนเองโดยระบุว่า ต้องการเรียนเรื่องอะไร จะวัดว่าได้บรรลุตามความมุ่งหมายแล้วหรือไม่ อย่างไร มีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้างที่บ่งบอกถึงผลการเรียนของผู้เรียนว่าผลการเรียนเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วสำเนาส่งให้ครูเก็บไว้ 1 ชุด เพื่อติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
แบบฟอร์มหรือตารางของการเขียนสัญญาการเรียน อาจประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
1). จุดมุ่งหมาย เป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนต้องการบรรลุผลสำเร็จในเรื่องอะไร อย่างไร
2). แหล่งวิทยาการ/วิธีการเป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้อย่างไรจากแหล่งความรู้ใด
3). หลักฐาน เป็นส่วนที่มีสิ่งอ้างอิงหรือยืนยันเป็นรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้แล้ว โดยเก็บรวบรวมเป็นแฟ้มสะสมงาน
4). การประเมินผล เป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ในระดับใด
3. การเรียนรู้แบบทางไกล
เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็คทรอนิคส์เป็นส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้แบบ e-learning
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบทางไกล
1. ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์ทางอิเล็คทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
2. มีเวลาสื่อสารทางสื่ออิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน เช่น Chat room, E-mail, Web board, Blog, facebook ฯลฯ
3. สถานศึกษาและครูมีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล หรือ อำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือ แนะนำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย
การเรียนรู้แบบทางไกล ควรดำเนินการ ดังนี้
การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
การประเมินความรู้ก่อนเรียนของตนเอง
การศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานตามที่กำหนด
การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อซักถาม นัดหมาย ขอคำปรึกษา ฯลฯ
การประเมินความรู้หลังเรียนของตนเอง
4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่ชัดเจน ซึ่งการจัดการเรียนรู้นี้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
1. สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียน ตารางเรียนที่เหมาะสม
2. มีการประชาสัมพันธ์สถานที่ วัน เวลา ครูผู้สอน ให้ผู้เรียนทราบทั่วกัน
3. สถานศึกษาจัดหาสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนเช่น เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ โสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
4. ผู้เรียนต้องมีเวลาเข้าชั้นเรียนตามที่กำหนดในตารางเรียน
การจัดกระบวนการเรียนรู้
1. การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยมีครู/ผู้รู้/ ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ในการถ่ายทอดเนื้อหาของครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม แสดงความคิดเห็นได้ โดยเพิ่มการเขียนถาม/ตอบ หลังการบรรยาย รวมทั้งมีการจัดโอกาสให้ฝึกในห้องปฏิบัติการ และจัดเวลาการให้คำปรึกษา
2. การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครู และผู้เรียนกับผู้เรียน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบพร้อมกับใช้กิจกรรมลักษณะที่เน้นการสื่อสาร เช่น กิจกรรมคู่ กิจกรรมกลุ่ม และการจัดที่นั่งในชั้นเรียนต้องเหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม
3. การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน ใช้การแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยที่แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดการเรียนการสอนครูจะสอดแทรกกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนได้รับข้อมูล/ข้อเท็จจริง กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการได้ลงมือปฏิบัติ/สังเกต และกิจกรรมการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
4. การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน โดยอาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน/กลุ่มเพื่อน จัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างครูกับผู้เรียน ใช้ผู้ช่วยสอน ใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน ใช้แฟ้มสะสมผลงาน ใช้การเรียนแบบทีม ใช้ e-mail, discussion boards และ internet เป็นต้น
การเรียนรู้แบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนด โดยในแต่ละรายวิชาจะเลือกการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาในรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของผู้เรียน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย และสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ในทุกรูปแบบการเรียนรู้ เพิ่มเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้