COVID-19 อันตรายถึงหัวใจ
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือชื่อทางการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศออกมาว่า COVID-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องและทำอันตรายกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจนโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด หากได้รับเชื้อ COVID-19 และปรากฏอาการโรคปอดบวม ถ้าไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและอวัยวะล้มเหลวหลายระบบได้ในที่สุด
หัวใจกับ COVID-19
หากติดเชื้อไวรัส Covid-19 จะมีระยะฟักตัว 2 - 14 วัน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการแสดง โดยผู้ป่วย 1 รายสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เฉลี่ย 2 - 4 คนขึ้นกับความหนาแน่นของประชากรและฤดูกาล โดยจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คัดจมูก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ความรุนแรงของโรคนี้แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคลและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากข้อมูลของวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า ในกลุ่มที่มีโรคหัวใจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่ามีโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง 40% ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 7% ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ 9% ตลอดจนไตวาย 4%
ในผู้ที่มีโรคประจำตัวยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากข้อมูลทั้งหมด 138 เคสที่ได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนระบุว่า ผู้ป่วยอาการหนักระยะวิกฤติมักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง 58% โรคเบาหวาน 22% โรคหลอดเลือดหัวใจ 25% โรคหลอดเลือดสมอง 17%
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วต้องได้รับออกซิเจนพบว่ามีถึง 76% ผู้ป่วยที่ต้องใส่อุปกรณ์แต่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 13% ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 4% และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) 3% ซึ่งผู้ป่วย COVID-19 ในกลุ่มที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ
เพราะฉะนั้นหากมีโรคประจำตัว ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำและไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อาทิเช่น หากมีไขมันในเลือดสูงควรต้องลดปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ถ้าเป็นโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เกินเกณฑ์ ถ้าสูบบุหรี่ควรรีบหาทางเลิกบุหรี่โดยเร็ว เป็นต้น
ป้องกัน COVID-19
การป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 สามารถทำตามคำแนะนำของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 วินาที (หรือลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์แล้วรอจนเจลแห้ง)
- สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง สีเข้มด้านนอก สีอ่อนด้านใน ปิดปากและจมูก คลุมคาง บีบดั้ง ล้างมือ
- ผู้ไม่ป่วยสวมหน้ากากผ้าได้ ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อควบคุมการแพร่กระจายโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ขยี้ตา แคะจมูก และสัมผัสปากเพื่อลดโอกาสการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ไอ จามในคอเสื้อหรือแขนพับ เลี่ยงการใช้มือป้องปากและจมูก ถ้าใช้มือป้องปากและจมูก ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- เช็ด ทำความสะอาดพื้นผิวที่หยิบ จับ สัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิด ที่จับประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ วัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ (ขึ้นกับลักษณะพื้นผิวสัมผัสนั้น ๆ)
- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น เช่น โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร สถานีขนส่ง สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น รีบทำธุระ รีบกลับที่พัก หากจำเป็นต้องไปให้สวมหน้ากาก ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ด้วย
- ปิดฝาชักโครกทุกครั้งที่กดล้างเพื่อลดโอกาสการฟุ้งกระจายของไวรัส ซึ่งถูกขับออกทางอุจจาระได้ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบโถสุขภัณฑ์ใส่ในถังพักน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อลดโอกาสการป่วย ซึ่งจะมีอาการแสดงคล้ายกับการติดเชื้อ COVID-19 จะได้ไม่ถูกเฝ้าระวังติดตาม การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19
เพราะเชื้อไวรัส COVID-19 แพร่กระจายได้ง่ายทางละอองฝอยของผู้ป่วยจากเมืองแหล่งระบาด นพ.อนุสิทธิ์ ทัฬหสิริเวทย์ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จึงแนะนำว่า “ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรระมัดระวังการติดต่อด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีและมีโรคประจำตัว นอกจากนี้หากมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอด หัวใจ และไตที่อาจเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญหากมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเดิมหรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและควบคุมระดับไขมัน น้ำตาล ค่าการอักเสบของหลอดเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดบวม Pneumococcal Vaccine หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด”
ข้อมูล : นพ.อนุสิทธิ์ ทัฬหสิริเวทย์
อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เข้าชม : 1108
|