โดย ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หลังจากรอคอยกันมาพักใหญ่ ดีเดย์ที่กัญชงจะได้รับการปลดล๊อกกำลังใกล้เข้ามา และนี่อาจจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย
ต้นกัญชาแมว หรือตำแยแมว
แต่บทความนี้ ไม่ได้จะพูดถึง กัญชง แต่อย่างใด แต่จะพูดถึง กัญชาแมว ตำแยแมว หรือ แคทนิป (catnip) พืชที่ทำให้น้องแมวสุดน่ารักฟินนนนน แบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
เปเปอร์ใหม่ที่พึ่งจะเผยแพร่ออกมาหมาดๆ ในวารสาร Science Advance กลายเป็นที่ฮือฮากันอย่างมากในหมู่ทาสแมว เพราะงานวิจัยจากแดนอาทิตย์อุทัยได้เริ่มที่จะไขปมปริศนาว่าทำไมแมวถึงคลั้งไคล้ต้นกัญชาแมวกันจนถึงขนาดเคลิบเคลิ้มสติหลุด
และที่จริงแล้ว กัญชาแมวมีประโยชน์อะไรกับพวกมันกันแน่
ดอกกัญชาแมว สีม่วงสดใส
หลายคนคิดว่าน่าจะมาจากกลิ่นหอมอ่อนๆ สุดรัญจวนของต้นกัญชาแมว ที่ไปละม้ายคล้ายคลึงกับกลิ่นฟีโรโมนของสัตว์ในตระกูลแมว แต่ถ้าว่ากันตามจริงแมวหนุ่มก็น่าจะสนฟีโรโมนจากแมวสาว ส่วนสาวเจ้าก็น่าจะพิศวาสกลิ่นกายจากชายหนุ่ม แต่แล้วเหตุใดทั้งแมวหนุ่มแมวสาวถึงคลั่งไคล้กัญชาแมวไม่ต่างกัน
กลไกกระตุ้นความฟิน
มาซาโอะ มิยาซากิ (Masao Miyazaki) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอิวาเตะ (Iwate University) ใช้เวลากว่าห้าปีเพื่อศึกษาถึงกลไกของกัญชาแมวที่ทำให้สัตว์ในตระกูลแมวคลั่งไคล้ เขาพบว่ากลิ่นที่ดึงดูดเหล่าแมวเหมียวนั้นเป็นกลิ่นของสารในกลุ่มอิริดอยด์ (iridoid) ซึ่งที่เจอเยอะในกัญชาแมว คือ “เนเพตาแลคโตน (nepetalactone)”
หน้าตาออดอ้อนของน้องแมวที่ทำให้ทาสแมวต้องยอมไปหากัญชาแมวมาปรนเปรอ
แต่ในญี่ปุ่น จะมีพืชอีกประเภทที่ส่งผลกับพฤติกรรมแมวได้ไม่ต่างจากกัญชาแมว เรียกว่า ซิลเวอร์ไวน์ (silver vine) – ผมลองเสิร์ชดูเจอว่าในไทยมีขายในชื่อ “มาทาทาบิ”
ในมาทาทาบิ หรือซิลเวอร์ไวน์ก็มีสารพวกอิริดอยด์เช่นกัน แต่เป็น “เนเพทาแลคตัล (nepetalactol)” ซึ่งสามารถเอามาใช้หลอกล่อแมวได้ไม่ต่างจากกัญชาแมว แมวชื่นชอบสารอิริดอยด์พวกนี้มาก ถ้าเจอจะเข้าไปเลีย ไปไซ้ ไปไถ ไปถู ผลจากการตรวจเลือดแมวที่ได้รับสารเข้าไปพบว่าระดับฮอร์โมนเบต้าเอนออฟินส์นั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เบต้าเอนโดฟินท์เป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ร่างกายจะหลั่งออกมาทำให้เข้าสู่สภาวะสุขกายสบายอุรา ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปจับกับโปรตีนตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptor) กระตุ้นการทำงานของระบบโอปิออยด์ในเซลล์ในระบบประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกฟิน อาจจะแนวๆ เหมือนเมายานิดๆ เพราะที่จริงยาเสพติดหลายชนิดอย่างฝิ่น มอร์ฟีนหรือเฮโรอีนก็ออกฤทธิ์ผ่านระบบโอปิออยด์เช่นกัน
การทดลองเอาสารเนเพตัลแลคตัลไปทดลองกับสัตว์ในตระกูลแมวอื่นทั้งแมวป่า (feral cat) แมวลิงซ์ (lynx) เสือดาว (leopard) และจากัวร์ (jaguar) พบว่าไม่ว่าจะแมวเล็กแมวใหญ่ เนเพตัลแลคตัลนั้นได้ผลอย่างชะงัด แต่กับสุนัขและหนู กลับไม่เวิร์ค แม้เพียงนิด!
เป็นไปได้ว่า แมวและมวลหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ของพวกมันอาจจะพัฒนากลไกการรับกลิ่นที่จำเพาะต่อเนเพตัลแลคตัลมาแล้ว ผ่านวิวัฒนาการอันเชื่องช้าและยาวนาน
มาซาโอะเชื่อว่าแค่เพียงทำให้ฟินคงไม่พอ ที่จริงแล้ว มันน่าจะมีเหตุผลที่ดีกว่านี้มาอธิบายว่าทำไมสัตว์ในตระกูลแมวถึงได้คลั่งไคล้ไหลลงกัญชาแมว (และซิลเวอร์ไวน์) ได้มากขนาดนี้ หรือว่า อิริดอยด์ จะมีประโยชน์อื่นที่ทำให้แมวสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดหรือสืบพันธุ์ได้ดีขึ้น
โคโลญจน์สยบยุงของน้องแมว
กัญชาแมวเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ทาสแมว เพราะเป็นสมุนไพรที่เป็นเลิศในด้านการกระตุ้นความฟินในแมว แต่ทว่าบางคนอาจจะเอามาชงเป็นชา เอามาหมักเนื้อให้นุ่ม หรือแม้แต่เอามาใช้เป็นตำรับยาสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อลดไข้ บรรเทาหวัด ตะคริว และอาการปวดหัวไมเกรน
คริส ปีเตอร์สัน นักกีฏวิทยาจากกรมป่าไม้และการเกษตร สหรัฐอเมริกา (US Department of Agriculture Forest Service) ในตอนที่เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐไอโอวา (Iowa State University) ได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของสารสกัดกัญชาแมว “เนเพทัลแลคโตน” ในการไล่แมลง
การทดลองของคริสพบว่า เนเพทัลแลคโตนจากกัญชาแมวสามารถตะเพิดยุงลายให้หลีกหนีหายไปไกลๆ ได้ดีกว่าสาร DEET ที่เป็นองค์ประกอบหลักของยากันยุงที่วางขายกันทั่วไปถึง 10 เท่า แถมการสกัดสารออกฤทธิ์ออกมายังง่ายอีก
“ถ้าจะสกัดน้ำมันเนเพทัลแลคโตน ห้องปฏิบัติการเคมีธรรมดาในโรงเรียนมัธยมก็น่าจะกลั่นมันออกมาได้ และถ้าอยากเพิ่มปริมาณการสกัดให้ได้เยอะๆ ในระดับอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร” คริสให้สัมภาษณ์
มาซาโอะ สนใจคุณสมบัติพิเศษนี้ และสงสัยว่า เนเพทัลแลคตัล ที่เขาสกัดได้จากต้นซิลเวอร์ไวน์ จะมีฤทธิ์ไล่ยุงได้ เหมือนกับน้ำมันกัญชาแมวหรือไม่
เขาจึงเอาเนเพทัลแลคตัล ไปหยอดให้น้องแมวในห้องทดลอง ผลเป็นที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะยุงลายจำนวนมากจะพยายามไม่เฉียดใกล้แมวที่หยอดเนเพทัลแลคตัล แต่กระนั้น ก็ยังพอมีส่วนน้อยที่ยังเข้าไปเกาะน้องแมวอยู่บ้าง
ที่ทำให้มาซาโอะนั้นตื่นเต้นยิ่งกว่าเดิม คือ การถูไถของแมวไปกับใบกัญชาแมว หรือซิลเวอร์ไวน์ นั้นเพียงพอแล้วที่จะทำให้ยุงหลีกหนีไปอยู่ห่างๆ
“พฤติกรรมการคลั่งไคล้กัญชาแมวของน้องแมว น่าจะเป็นพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน” มาซาโอะคาดเดา
อย่างน้อยก็ไล่ยุงได้ชะงัด!
แมวเป็นสัตว์ผู้ล่า มีฝีเท้าย่องเบา และอาจล่าเหยื่อโดยการซุ่มจู่โจม
สัตว์ในตระกูลแมว ล้วนเป็นนักล่าที่มีสัญชาติญานในการล่าอย่างเต็มเปี่ยม พวกมันจะย่องอย่างเงียบเชียบ หรือซุ่มซ่อนในพงหญ้าที่รกชัฎเพื่อเตรียมกระโจนเข้าจู่โจมเหยื่อโชคร้ายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อย่างหวังผล
กลิ่นหอมของกัญชาแมวบนขนจะช่วยทำให้พวกมันปลอดภัยจากยุงร้าย ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ
การกระตุ้นตัวรับโอปิออยด์ในระบบประสาท โดยกัญชาแมวน่าจะช่วยทำให้แมวผู้ล่ารู้สึกมีความสุข ฟิน ไม่ต้องคอยสะบัดหัวหู และคอยปัดยุง เหลือบ ริ้น ไร และแมลงชวนรำคาญอื่นๆ พวกมันจะสามารถซุ่มซ่อนรอล่าอย่างนิ่งสงบได้แม้จะมีแมลงจอมตื้อบางตัวที่ไม่แยแสกลิ่นกัญชาแมว และยังคงทู่ซี้ก่อกวน บินว่อนวุ่นวายอยู่ใกล้ๆ มัน
ความอดทนอดกลั้นจะทำให้พวกมันล่าเหยื่อได้เหนือกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการทดลองใดที่จะชี้ขาดว่าแมวจะสนใจฝั่งไหนมากกว่า ระหว่าง กัญชาแมว กับเหยื่ออันโอชะ
บทต่อยอดของความฟินนน น น