แหล่งท่องเที่ยวในตำบลพนมสารคาม
อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (มิวเซียมพนมสารคาม)
ตั้งอยู่ในโรงเรียนพนมอดุลวิทยา บริเวณทางเข้าด้านหน้า เป็นอาคารที่เกิดจากความเสียสละ ความสามัคคี ความมีน้ำใจของชาวพนมสารคาม และพระพรหมเวที เจ้าคณะภาค ๘ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ที่มีความประสงค์จะให้อาคารหลังนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยตัวอาคารแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างใช้แสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม โดยมีการรวบรวมความเป็นมาตั้งแต่อดีต ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งมีทั้งข้อมูลรายละเอียดและภาพถ่ายโบราณ โดยการจัดแสดงลักษณะนิทรรศการประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ให้คำแนะนำ ชี้แนะแนวทาง วางแผนดำเนินงาน พร้อมทั้งระดมนักวิชาการค้นคว้าข้อมูล ส่วนบริเวณด้านบนจัดทำเป็นห้องสมุดซึ่งรวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ และหนังสือที่น่าสนใจในด้านอื่นๆ อาคารเฉลิมพระเกียรตินี้เปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป โดยเปิดให้เข้าชมในช่วงเวลาทำงาน และช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
วัดเตาเหล็ก สมัยรัชกาลที่ 3
วัดเตาเหล็ก ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ บ้านเตาเหล็ก หมู่ ๓ ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๖ ตารางวา วัดเตาเหล็ก ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ เดิมชื่อวัด ศรีธาตุ เริ่มสร้างเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ “ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในคุ้งน้ำท่าลาด” และเป็นสถานที่ดื่มน้ำพระพิพัฒนสัตยา มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านล้านช้าง ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อตั้งบ้านเรือนเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นพระพุทธรูป พระประธานประจำวัดก็ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ ตอนที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
พระอุโบสถหลังเก่า สร้างโดยพระทสพลดลศรี เวียงวโรดม เป็นชาวเวียงในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โดย นางสละ สมบูรณ์ทรัพย์ บริจาคเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เหตุที่ต้องมีการบูรณะใหม่ เนื่องจากหลังคาที่เป็นสังกะสีแผ่นใหญ่เสียหายจึงต้องเปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสีแผ่นเล็ก แต่ก็ยังต้องเป็นสังกะสีเก่าเมื่อ พ.ศ ๒๓๖๗ ปูชนียวัตถุภายในวัดมีหลายจุด อาทิเช่น พระอุโบสถหลังเก่า, สิงห์บันไดหน้าพระอุโบสถ, จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ, กุฏิธรรมสังเวชของ พระอธิการสบู่ อิสโร ที่มรณภาพแล้ว ร่างกายไม่เน่าเปื่อย
เข้าชม : 1246 |