[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
   กลับหน้าหลัก

 

ประวัติกศน.ตำบลดงน้อย

 
 

 

ตำบลดงน้อย

          ประวัติศาสตร์

          ตำบลดงน้อย เดิมเป็นท้องที่อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้ตำบลดงน้อย แยกการปกครองออกจากอำเภอพนมสารคาม ไปรวมกับตำบลบางคา และตำบลเมืองใหม่ จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอราชสาส์น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2520 ต่อมากิ่งอำเภอราชสาส์น ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอราชสาส์น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 ตำบลดงน้อยจึงเป็นท้องที่อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอราชสาส์นจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มาของชื่อ

          แต่เดิมพื้นที่ในหมู่นี้ เป็นดงไม้ที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้อยู่อาศัย กระทั่งประเทศกัมพูชาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและว่าราชการเมืองพระตะบอง ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2450 จึงได้ยกขบวนอพยพผู้คนและกองคราวานเกวียนนับร้อย ๆ เล่ม ช้างม้าวัวควายอีกมากมาย เดินทางผ่านป่าทึบมาจนถึงฝั่งไทยที่เมืองปราจีนบุรี จึงได้ให้ผู้คนและบริวารตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีแห่งนี้เป็นเบื้องต้น

          ต่อมาพระกัมพุชภักดี หัวหน้าเหล่าบริวารของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พาครอบครัวและญาติพี่น้อง อพยพบุกเบิกเส้นทางทำมาหากิน ลงมาทางเมืองฉะเชิงเทรา จนถึงดงที่รกร้างแห่งนี้ เห็นสภาพพื้นที่เป็นที่สูงน้ำไม่ท่วม และรอบๆบริเวณเป็นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้พากันลงหลักปักฐานปลูกบ้านสร้างเรือนตั้งเป็นชุมชนขึ้น

          ส่วนชื่อเรียกที่ว่า "ดงน้อย" ก็เพราะแรกเริ่มตั้งเป็นชุมชนอยู่ในพื้นที่เป็นดงขนาดเล็ก ซึ่งสภาพยังปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน

 

สภาพทางภูมิศาสตร์

ทิศเหนือ            ติดกับ  ตำบลบางขาม    อำเภอบ้านสร้าง       จังหวัดปราจีนบุรี

ทิศใต้                ติดกับ  ตำบลบางคา      อำเภอราชสาส์น       จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทิศตะวันออ        ติดกับ  ตำบลหนองยาว   อำเภอพนมสารคาม   จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทิศตะวันตก        ติดกับ  ตำบลบางไทร และตำบลบางกระเจ็ด    อำเภอบางคล้า  จังหวัดฉะเชิงเทรา

         

ลักษณะภูมิประเทศ

          พื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีลำคลองไหลผ่าน เป็นที่ดอนในท้องที่บ้านตลาด  ดงน้อย

 

การแบ่งเขตการปกครอง

          แบ่งออกเป็น 16 หมู่บ้าน ได้แก่

          หมู่ที่ 1 บ้านตลาดดงน้อย,      หมู่ที่ 2 บ้านหนองจอก,       หมู่ที่ 3 บ้านหมู่ไผ่, 

          หมู่ที่ 4 บ้านสวนเจริญ,          หมู่ที่ 5 บ้านหน้าวัดใต้,        หมู่ที่ 6 บ้านหน้าวัดเหนือ, 

          หมู่ที่ 7 บ้านยางปุ่ม,              หมู่ที่ 8 บ้ายวังกระทุ่ม,        หมู่ที่ 9 บ้านท่าโพธิ์, 

          หมู่ที่ 10 บ้านน้ำฉ่า,              หมู่ที่ 11 บ้านสะแกงาม,      หมู่ที่ 12 บ้านทางข้าม!

หมู่ที่ 13 บ้านกันเดรา,           หมู่ที่ 14 บ้านกินดาษ,         หมู่ที่ 15 บ้านไผ่งาม, 

หมู่ที่ 16 บ้านกนองโบสถ์ใหญ่

 

ประวัติหมู่บ้านตำบลดงน้อย

          หมู่ที่ 1 บ้านตลาดดงน้อย แต่เดิมพื้นที่ในหมู่นี้ เป็นดงไม้ที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้อยู่อาศัย กระทั่ง พระกัมพุชภักดี หัวหน้าเหล่าบริวารของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้พาครอบครัวและญาติพี่น้องอพยพบุกเบิกเส้นทางทำมาหากิน มาจนถึงดงที่รกร้างแห่งนี้ เห็นสภาพพื้นที่เป็นที่สูงน้ำไม่ท่วม และรอบๆบริเวณเป็นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้พากันลงหลักปักฐานปลูกบ้านสร้างเรือนตั้งเป็นชุมชนขึ้น ส่วนชื่อเรียกที่ว่า "ดงน้อย" ก็เพราะแรกเริ่มตั้งเป็นชุมชนอยู่ในพื้นที่เป็นดงขนาดเล็ก และกลายเป็นตลาดของชุมชนในเวลาต่อมา

 

          หมู่ที่ 2 บ้านหนองจอก หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่หนึ่งของตลาดดงน้อย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าตั้งขึ้นเมื่อใด และใครตั้ง ทราบแต่ว่าเดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาในสมัยสงครามอินโดจีน ชาวกำพูชาและชาวลาวบางครอบครัว ได้อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งบ้านเรือน ที่ตำบลดงน้อยรวมทั้งที่นี่ด้วย แรกทีเดียวนั้นพื้นที่บริเวณบ้านนี้ยังเป็นป่า มีสัตว์ป่าชุกชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "หมาจิ้งจอก" ซึ่งได้พากันมาดื่มน้ำในหนองซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นประจำ ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกแหล่งน้ำนี้ว่า "หนองจิ้งจอก" ต่อมากลายเรียกเป็น "หนองจอก" เมื่อมีประชาชนมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้มากขึ้น จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหนองจอก” ส่วนอีกนัยหนึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า หนองน้ำที่หมู่บ้านแห่งนี้เต็มไปด้วยจอกแหน จึงเรียกว่า "หนองจอก"

 

          หมู่ที่ 3 บ้านหมู่ไผ่ บ้านหมู่ไผ่นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ตั้งขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้ก่อตั้ง สภาพเดิมของหมู่บ้านมีเพียงกระท่อมเล็กๆ 2-3 หลัง ตั้งอยู่ท้ายดงด้านทิศตะวันตกของดงน้อย พื้นที่บริเวณนี้แต่เดิมอุดมไปด้วยไผ่เลี่ยงไผ่ป่าเป็นจำนวนมาก ต่อมามีผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้น และตั้งเป็นหมู่บ้านพร้อมใช้ชื่อเรียกตามลักษณะภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยต้นไผ่นี้ว่า "หมู่ไผ่"

          หมู่ที่ 4 บ้านสวนเจริญ หมู่บ้านนี้มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับหมู่บ้านหนองโบสถ์ คือ ชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ในบริเวณหมู่บ้านหนองโบสถ์ ต่อมาได้พากันอพยพโยกย้ายไปในบริเวณส่วนแห่งหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมไม่มีผู้อยู่อาศัยพร้อมทั้งได้สร้างวัดเกาะแก้วเวฬุวันขึ้น ภายหลังมีผู้คนได้อพยพเข้าไปตั้งบ้านเรือนที่บริเวณสวนแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น จึงตั้งชื่อเรียกพื้นที่นี้ว่าว่า "บ้านสวนรั้ง" และได้เปลี่ยนเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ใหม่ในเวลาต่อมาว่า "บ้านสวนเจริญ"

 

          หมู่ที่ 5 บ้านหน้าวัดใต้ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่สามารถหาหลักฐานได้ สภาพเดิมของหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้วัดเกาะแก้วเวฬุวันทางทิศใต้ ชาวบ้านจึงพากันเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านหน้าวัดใต้"

 

          หมู่ที่ 6 บ้านหน้าวัดเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่สามารถหาหลักฐานได้ และที่เรียกชื่อหมู่บ้านเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก หมู่บ้านตั้งอยู่เหนือวัดเกาะแก้วฬุวัน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านหน้าวัดเหนือ"

          หมู่ที่ 7 บ้านยางปุ่ม สภาพเดิมของหมู่บ้านเป็นดงไผ่และไม้ยืนต้น และออกจากบริเวณดงไปเป็นท้องทุ่งนา ซึ่งแต่เดิมมีต้นยางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ตรงกลางต้นมีปุ่มใหญ่อันเป็นลักษณะพิเศษสะดุดตา จึงใช้ลักษณะที่ปรากฏนี้รียกชื่อบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านยางปุ่ม" ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยมาแต่เดิม ไม่สามารถสืบสาวได้ว่าเมื่อใด

 

          หมู่ที่ 8 บ้ายวังกระทุ่ม หมู่บ้านนี้ตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2450 สภาพเดิมของหมู่บ้านมีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 10 กว่าหลังคาเรือนส่วนสาเหตุที่เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "วังกระทุ่ม" ก็เนื่องมาจากมีต้นกระทุ่มใหญ่อยู่ 4 ต้น ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื้อสายเขมรอพยพมาจากบางตีนเป็ด เสม็ดใต้ และดงน้อย

 

          หมู่ที่ 9 บ้านท่าโพธิ์ หมู่บ้านนี้ตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2440 ขณะก่อตั้งขึ้นยังเป็นป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมา นายภานางกุหลาบ อพยพมาจากบ้านไผ่ล้า ตำบลเมืองใหม่เดิม มาจับจองที่ดินตั้งถิ่นฐานทำนาเลี้ยงครอบครัว ต่อมาไม่ถึงปี นายนวล นางเล็ก เจริญพงษ์ ก็อพยพมาจากหมู่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอพนมสารคาม เป็นครอบครัวที่สอง ดำรงอาชีพทำนาเช่นกัน จากนั้นอีกราว 6-7 ปี นายภา นางกุหลาบ ก็ขายที่นาให้ นางพุก พินิจค้า ซึ่งเป็นชาวบ้านบางคา ตำบลบางคา จำนวน 160 ไร่ คิดเป็นเงิน 7-8 ชั่ง แล้วทั้งสองก็อพยพไปที่บ้านพวง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีน เพื่อจับจองที่ดินทำกินใหม่..หลังนายภา นางกุหลาบออกไปแล้ว นางพุกก็ให้บุตรชาย คือ นายไล้ พินิจค้า ที่อยู่บ้านบางคา มาดูแลที่นาแทน ต่อมานายไล้ได้สมรสกับนางมอญ และครอบครองที่ดินสืบต่อกันมา

          ต่อมาก็มีนายวันนา นางหมา ศรีทา อพยพมาจากบ้านลาดอีแตน ตำบลดงน้อย นายคำ    นางจู นายเหมือน นางต่อม นายทุม นางเข็ม (ไม่ทราบว่ามาจากที่ใด) อพยพเข้ามาอยู่เมื่อผู้คนเข้ามาอยู่มากขึ้น นายนวล-นางเล็ก เจริญพงษ์ จึงได้ประชุมชาวบ้านทั้งหมด ปรึกษากันว่าควรจะตั้งชื่อหมู่บ้านว่าอย่างไรดี แต่ก็ไม่มีใครสามารถตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ได้ นายนวล เจริญพงษ์ ซึ่งอาวุโสกว่าคนอื่น ๆ จึงขอตั้งชื่อว่า "บ้านท่าโพธิ์" เหตุที่ตั้งชื่อนี้เนื่องจากนายนวลเป็นผู้มีใจบุญ ฝักใฝ่ทางศาสนา จึงเอาชื่อไม้โพธิ์มาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้าน

 

          หมู่ที่ 10 บ้านน้ำฉ่า บ้านน้ำฉ่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านอยู่กระจายกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 6-7 หลังคาเรือน ในราวปี พ.ศ.2320มีชาวบ้านหลายตระกูลพากันมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณนี้ บางส่วนเป็นลูกหลานชาวลาวเวียงจันทน์ ที่อพยพมาจากตำบลเมืองเก่า อำเภอพนมสารคาม ได้แก่ตระกูล "แก้วมณี"

          ส่วนอีกตระกูลที่อพยพเข้ามาเป็นตระกูลที่สองคือ "นพภาลี" และตระกูล "สุขแพทย์" ซึ่งมาจากตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง ชาวบ้านทำนา หลังการเก็บเกี่ยว ไม่สามารถเผาตอซังข้าวได้ ต้องปล่อยให้ตอซังแช่น้ำจนเปื่อยย่อยสลายไป ทำให้น้ำในพื้นที่แถบนี้เป็นสีชาโดยทั่วไป จนเรียกพื้นที่หมู่บ้านแถบนี้ว่า "บ้านน้ำสีชา" ภายหลังกลายคำเป็น "บ้านน้ำฉ่า"

 

          หมู่ที่ 11 บ้านสะแกงาม หมู่บ้านสะแกงามตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2440 สภาพเดิมของหมู่บ้านนี้เป็นป่าอ้อ แขม พื้นที่ส่วนนี้เดิมเป็นทะเลสาบน้ำจืด พอนานเข้าก็ตื้นเขิน อ้อ แขมจึงขึ้นอยู่โดยทั่วไป เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้คนในละแวกใกล้เคียงไปจับจองที่ดินทำนาและอยู่อาศัย ส่วนมากมาจากบ้านบางคา ดงน้อย และแปดริ้วหากจะแบ่งหมู่บ้านแห่งนี้ ต้องแยกออกเป็น 3 ตอน คือ

          ตอนที่ 1 บ้านสะแกงาม เพราะแต่ก่อนเป็นป่าสะแกขึ้นเต็มไปหมด จึงเรียกว่า "สะแกงาม"

          ตอนที่ 2 บ้านวังน้ำเตียน เพราะลำคลองส่วนนี้เป็นวังใหญ่เตียน จึงเรียกว่า "วังน้ำเตียน" แต่ปัจจุบันเต็มไปด้วยผักตบชวา

          ตอนที่ 3 บ้านท้องคุ้ง เพราะคลองเป็นคุ้ง จึงเรียกว่า "บ้านท้องคุ้ง"

 

          หมู่ที่ 12 บ้านทางข้าม หมู่บ้านนี้ปรากฏขึ้นเมื่อไรไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงในราวปี พ.ศ. 2420 ชื่อเดิมใครเป็นผู้ตั้งไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่ารียกบ้านสะแกงาม (เป็นภาษาเขมร แปลว่า สะแกต้นเดียว) ต่อมาภายกลังเรียกกันว่า "บ้านทางข้าม" เพราะเป็นผู้คนรุ่นต่อมา เรียกตามสภาพที่มีลำชวดผ่านหมู่บ้าน มีทางไล่วัวควายข้ามคลอง จึงตั้งชื่อตามสาเหตุนี้ในช่วงต่อ ๆ มา บรรพบุรุษของประชาชนในหมู่บ้านนี้มีเชื้อสายเขมรที่อพยพมาจาก กำปงจาม ประเทศกำพูชา

 

         หมู่ที่ 13 บ้านกันเกรา บ้านกันเกรา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของดงน้อย สภาพพื้นที่เดิมมีต้นกันเกรายืนตระหง่านอยู่ข้างทางที่ชาวบ้านสัญจรไปมา (บนที่ดินเดิมของนางพูน เงี๊ยบโตจิน ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายชูน สวดสวัสดิ์ บริเวณหน้าบ้านของนางจำเริญ ผินสุวรรณ) ถือสัญลักษณ์ของหมู่บ้านนี้ จึงได้ตั้งชื่อเรียกหมู่บ้านเป็นชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดนี้ว่า "บ้านกันเกรา"

          หมู่ที่ 14 บ้านหินดาษ บ้านหินดาษ ตั้งอยู่ทางเหนือของหมู่บ้านดงน้อย เป็นที่ตั้งของวัดหินดาษ และโรงเรียนวัดหินดาษ (กระแสบุญชูอุทิศ) พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นหินแดงที่เรียกว่าศิลาแลงเต็มไปหมด จึงได้ตั้งชื่อเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านหินดาษ"

 

          หมู่ที่ 15 บ้านไผ่งาม บ้านไผ่งาม เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจาก บ้านหมู่ไผ่ บริเวณรอบหมู่บ้านมีต้นไผ่ที่ปลูกโดยบรรพชนรุ่นแรกๆ ยังคุณประโยชน์ใช้เป็นได้ทั้งรั้วบ้าน เป็นเขตแดน เป็นผนังกั้นลมพายุให้กับบ้านเรือน อีกทั้งยังสามารถนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย เป็นข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งแระดิษฐ์ต่างๆ นับเป็นไม้เศรษฐกิจให้กับหมู่บ้านเป็นอย่างดี จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านไผ่งาม"

 

          หมู่ที่ 16 บ้านหนองโบสถ์ใหญ่ บ้านหนองโบสถ์ใหญ่ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ส่วนที่เรียกชื่อว่า "บ้านหนองโบสถ์ใหญ่" ก็ด้วยแต่เดิมในหมู่บ้านมีวัด และมีโบสถ์ตั้งอยู่อยู่ข้างหนองน้ำใหญ่ จึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านหนองโบสถ์ใหญ่"

 



เข้าชม : 2270
 

กศน.ตำบลดงน้อย   อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ 0930932998 E-mail : Angtati14@gmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04tb    Admin