วันเสาร์ที่ผ่านมา (๘ พฤษภาคม ๕๓) 

          ผมและน้องๆ ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่และนิสิตร่วม ๑๐ ชีวิต มีโอกาสเดินทางไปมหาชีวาลัยอีสานอีกครั้ง 

          ไปครั้งนี้  รู้ล่วงหน้าบ้างแล้วว่าจะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเหล่าบรรดานิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกกันที่นั่น  โดยครั้งนี้เราไม่ได้ตระเตรียมกิจกรรมใดๆ ไปเสริมแต่ง  เพราะเห็นว่ากระบวนการต่างๆ ดูจะขับเคลื่อนได้ชัดเจนอยู่แล้ว  
           การไปครั้งนี้จึงไปในฐานะสังเกตการณ์ล้วนๆ

          ก่อนการเดินทางหนึ่งวัน  ผมยกโทรศัพท์ไปถึงพ่อครูบาฯ  เพื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่จะมีขึ้น  โดยหลักๆ คือการสอบถามเรื่องราวที่ผมและทีมงานจะได้ช่วยเหลือ หรือพอเป็นมือเป็นไม้ให้กับท่านในเรื่องใดได้บ้าง
          ที่สุดแล้ว ท่านก็ยังยืนยันว่า "ไม่มีอะไรมาก  อยากให้มากินข้าวเที่ยงด้วยกันเท่านั้นเอง"

          กระนั้นก็เถอะ  คุณสมปอง  มูลมณี  และคุณรุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง ก็ไม่วายชวนน้องนิสิตติดสอยห้อยตามไปด้วยอยู่หลายคน  หลักๆ เป็นคณะกรรมการบริหารองค์กรนิสิต 

ก่อนการเดินทาง  เจ้าหน้าที่หนุ่มทั้งสอง  ยังถือโอกาสพ่วงหมอแคนที่เป็นนิสิตขึ้นรถไปด้วยคนหนึ่ง ส่วนหมอลำนั้นหาไม่ได้  เพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม  ก็คิดกันบ้างเหมือนกันว่า  หากต้องเจอภาวะ “โยนไมค์”  ก็คงเห็นทีต้องเข็นคุณสมปองฯ  นั่นแหละเป็น “หมอลำจำเป็น”  นั่นคือสิ่งที่เรามองตาและรู้ใจกันไปโดยปริยาย

          และเมื่อไปถึง  สิ่งที่คาดการณ์ไว้ก็ไม่ผิดเพี้ยน  คุณสมปองฯ เลยจำต้องทำหน้าที่เป็นหมอลำจำเป็นวาดลวดลายไปพรางๆ  ส่วนหมอแคนนั้น ไม่ต้องห่วง เพราะถือว่าฝีไม้ลายมือนั้น จัดอยู่ในขั้น “ไม่ธรรมดา”

          ส่วนนิสิตที่เหลือนั้น  หลักๆ ก็มอบหมายให้ช่วยงานโยกเก้าอี้ จัดเก้าอี้บ้าง หรือไม่ก็เก็บจาน ล้างแก้วตามโอกาสที่เป็นไป  ซึ่งนั่นก็เป็นไปตามแนวคิดที่ผมพร่ำบ่นแบบติดตลกกับพวกเขาเสมอมาว่า “อยู่บ้านท่านอย่างนิ่งดูดาย...ปั้นวัวปั้นควายไล่ขวิดลุกท่านเล่น”

          และที่สำคัญที่สุดก็คือ  การฝากให้ทุกคนพยายามสังเกตการณ์ด้วยการฟังในสิ่งที่คนทั้งหลายได้พูดคุย เสวนา หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ส่วนการเที่ยวชมส่วนป่านั้น ให้ถือเป็นเรื่องรองลงไป

 

ช่วงหนึ่ง พ่อครูบาฯ  ได้ถามถึงสาเหตุของการเรียนปริญญาเอกจากนักศึกษา  โดยท่านหยิกหยอกว่า คำตอบของแต่ละคน  จะสามารถบอกได้เลยว่า “ใครจะจบช้า จบเร็ว หรือแม้แต่ไม่จบ”

          ครับ, ประเด็นนี้น่าสนใจมาก  ทั้งผมและนิสิต  หรืแม้แต่เจ้าหน้าที่จึงได้ตั้งสมาธิสดับฟังอย่างตั้งใจ  พร้อมกับการขบคิดถึงคำตอบของแต่ละคนไปพร้อมๆ กัน         

          ผมว่าคำตอบในประเด็นนี้  เป็นคำตอบที่สะท้อนตัวตนของผู้เรียน หรือสะท้อนอนาคตขององค์กรที่ท่านทั้งหลายสังกัดได้อย่างแจ่มชัด

          หลายต่อหลายคน ตอบในทำนองเดียวกันว่า  ...

-         เรียนเพื่อยกระดับตัวเองให้มีสถานะที่ดูดี ดูเด่นไปจากเดิม 

-         เรียนเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล

-         เรียนเพื่อให้เป็นที่เคารพและน่าเชื่อถือจากสังคม และคนรอบข้าง 

-         เรียนเพื่อเป็นเครื่องมือในการแข่งขันกับผู้คนในโลกแห่งการงาน

-         เรียนเพื่อเป็นต้นแบบของลูกๆ

-         เรียนเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า “เราทำได้”

-         เรียนเพื่อให้เห็นโลกใหม่ๆ ที่กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่

-         เรียนเพื่อให้ได้ใบเบิกทางไปสู่สถานะที่ดีและมั่นคง 

-         เรียนเพื่อให้ได้ความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ  ฯลฯ

 

นั่นคือ ภาพสะท้อนทางความคิดที่แต่ละท่านได้บอกเล่าออกมา  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นในทำนองนั้นจริงๆ  จนบรรดาบล็อกเกอร์ หรืออาจารย์หลายท่านอดที่จะตั้งคำถามย้อนกลับไปไม่ได้ว่า  แท้ที่สุดแล้ว  ใบปริญญาบัตร ก็เป็นเสมือนแค่แผ่นกระดาษที่มีไว้เพื่อประดับยศในวันสิ้นลมหายใจ (กระนั้นหรือ)         

          ครับ, ผมว่าการสะท้อนคำถามกลับไปเช่นนั้น ชวนคิดอย่างบาดลึกเป็นที่สุด  มันคือการตั้งคำถามถึงเป้าหมายแห่งชีวิตของผู้เรียน  มันคือการสะท้อนถึงอนาคตของคนและอนาคตของสังคมที่ฝากไว้กับกระบวนการแห่ง “การศึกษา

          สำหรับผมนั้น  ผมเชื่อและศรัทธาเสมอมาว่า การศึกษาคือกระบวนการแห่งการพัฒนาคนและสังคมโดยแท้จริง  ถึงแม้ระบบการศึกษาจะดูล้มลุกคลุกคลานมาอย่างแสนสาหัส  แต่ผมก็ไม่เคยเสื่อมศรัทธา และไม่เคยสิ้นหวังที่จะหันหลังให้กับการศึกษา  และเชื่อว่า...การเรียน หรือการศึกษาจะยกระดับชีวิตของคนและสังคมได้อย่างไม่ต้องสงสัย 

          แต่ทั้งปวงนั้น มันต้องขึ้นอยู่กับว่า  ผู้เรียนเข้าใจ “เป้าหมาย” แห่งการเรียนหรือการศึกษาของตัวเองแค่ไหน  เรียนเพื่ออะไร..นอกจากเรียนเพื่อตนเองแล้ว  สังคม หรือคนรอบข้างจะได้อะไรจากการร่ำเรียนของตัวเอง

          บางที  การเรียนในระดับต่างๆ  มันน่าจะหมายถึงการแสวงหาทางออก หรือแสงสว่างให้กับชีวิตนั่นแหละ  แต่จะวิเศษมาก  หากการเรียนรู้ของใครสักคนนั้นสามารถข้ามพ้นความเป็น “ปัจเจก”  ส่วนตัว ไปสู่การตอบโจทย์ “สังคม หรือสถาบัน”  ได้ด้วย  ตรงนี้ผมถือว่ามันคือ “เป้าหมาย”  ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเอามากๆ

          แน่นอนครับ  การพัฒนาสังคม ก็คงต้องเริ่มจากตัวเราก่อน 
          แต่สำหรับเป้าหมายของการศึกษานั้น  ผมว่า  เราควรต้องตอบให้ชัดว่า เราเรียนเพื่อตัวเราเท่านั้นจริงๆ หรือ...

          และเมื่อทั้งผมและทีมงานพาตัวเองขึ้นนั่งในรถตู้เพื่อเดินทางกลับมหาสารคาม  เราก็เปิดเวทีกันในรถแบบง่ายๆ ในคำถามเดียวกับที่พ่อได้เปิดประเด็น...
          คำถามเดียวกัน  แต่คำตอบก็มีทั้งเหมือนและต่าง
          หากแต่คำตอบของนิสิตนั้น  ดูเหมือนจะมีคำว่าเรียนให้รู้ความเป็นโลกและชีวิต...เรียนให้รู้ความเป็นมนุษย์และสังคม...เรียนเพื่อพัฒนาตน พัฒนาสังคม...

        ครับ, ฟังดูมีอุดมการณ์ อุดมคติมิใช่ย่อย  
        แต่ผมฟังแล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า  เหมือนตัวเองกำลังเดินเล่นอยู่ในสวนดอกไม้อันรื่นมรมย์ดี ๆ นั่นเอง