เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความทั่วไป
หัวข้อเรื่อง : แสงเหนือ แสงใต้ มหัศจรรย์ของฟากฟ้า

อังคาร ที่ 19 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2565

คะแนน vote : 62  

 

แสงเหนือ แสงใต้ มหัศจรรย์ของฟากฟ้า

เรื่องโดย ณมุรธา พอลสัน


          หลายท่านคงเคยได้ยิน หรือบางท่านเคยมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า แสงขั้วโลก (Aurora Polaris) ซึ่งมีลักษณะเป็นแสงสวยงามเรืองรองสะท้อนอยู่บนท้องฟ้าของประเทศแถบขั้วโลก เช่น ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย

          แสงขั้วโลกได้ถูกขนานนามว่าเป็น “การเต้นรำของแสงสี” (The Bright of Dancing Lights) หรือ “การเริงระบำของจิตวิญญาณ” (Dance of The Spirits) มีรากศัพท์ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Aurora ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามเทพีแห่งรุ่งอรุณของชาวโรมัน (Roman Goddess of Dawn) แสงขั้วโลกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในแถบขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในคืนที่มืดสนิท

          แสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกเหนือ เรียกว่า แสงเหนือ (Northern Light หรือ Aurora Borealis) แสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกใต้ เรียกว่า แสงใต้ (Southern Light หรือ Aurora Australis) มีงานวิจัยบอกว่า แสงเหนือ และแสงใต้นั้น มักจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มีรูปร่างและสีเหมือนกัน แต่จะปรากฏเป็นลักษณะของภาพสะท้อนเงากระจกต่อสายตาผู้พบเห็น

          ชาวยุโรปเหนือในยุคโบราณ (กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์) มีความเชื่อว่าแสงขั้วโลกเกิดจากแสงสะท้อนของชุดเกราะนักรบโบราณ และส่องสว่างขึ้นบนท้องฟ้า ในขณะที่ชาวโรมันสมัยก่อนเชื่อว่า แสงขั้วโลกเกิดจากการปรากฏตัวของเทพีแห่งรุ่งอรุณ ซึ่งจะโบยบินผ่านท้องฟ้ายามเช้า เพื่อมาส่งสัญญาณว่า ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นแล้ว ส่วนชาวอะบอริจินมีความเชื่อว่า แสงขั้วโลกเป็นสัญลักษณ์ของไฟ ไม่ว่าจะเป็นไฟจากคบเพลิง หรือการก่อกองไฟ ถ้าจะให้เปรียบเทียบตำนานเหล่านี้ ก็คงจะคล้ายปรากฏการณ์ธรรมชาติในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการที่ฟ้าผ่าเพราะยักษ์รามสูรขว้างขวานใส่ลูกแก้วของนางมณีเมขลา หรือการเกิดจันทรุปราคาเพราะพระราหูมาอมดวงจันทร์เอาไว้


ภาพจาก Wikipedia.org

          แต่ในความเป็นจริงแล้ว แสงขั้วโลกเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงซึ่งถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ขณะที่กำลังหมุน อนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่มากับลมสุริยะ มุ่งหน้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เนื่องจากสนามแม่เหล็กบนผิวโลก ในขณะที่อนุภาคเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับความสูง 80-640 กิโลเมตรจากพื้นดิน จะชนกับโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศ และปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่ตามนุษย์มองเห็นได้

          แสงขั้วโลกจะปรากฏเป็นสีและรูปร่างที่แตกต่างกัน โดยที่รูปร่างของแสงขั้วโลกนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของสนามแม่เหล็กบนผิวโลก รูปร่างที่พบเห็นบ่อย คือเป็นแสงเรืองรองกระจายอยู่บนท้องฟ้า หรือมีลักษณะเป็นลำแสงชัดเจน หรือมีหน้าตาเหมือนม่านหมอกของละอองแสง

          ส่วนสีของแสงขั้วโลกขึ้นอยู่กับความสูงที่เกิดการชนกันของอนุภาคจากดวงอาทิตย์ และโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศโลก รวมถึงชนิดของก๊าซด้วย ซึ่งหลักๆ ได้แก่ ออกซิเจน และไนโตรเจน สีของแสงขั้วโลกที่ปรากฏบ่อยที่สุดคือ สีเขียวและสีชมพู รองลงมาคือสีแดง สีเหลือง และสีม่วงตามลำดับ

          นักวิทยาศาสตร์พบว่า แสงขั้วโลก ไม่ได้มีเฉพาะบนโลกเท่านั้น แต่พบในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่มีสนามแม่เหล็ก อย่างเช่น ดาวจูปิเตอร์ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ด้วยเช่นกัน

          อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจเริ่มกังวลว่า การเกิดแสงขั้วโลกนั้นจะมีผลกระทบต่อโลกของเราหรือไม่ เรื่องนี้แม้จะยังไม่ปรากฏว่ามีบันทึกถึงความเสียหายจากการเกิดแสงขั้วโลกที่ชัดเจน แต่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ประหลาดขณะเกิดแสงขั้วโลกอยู่บ้าง คือ เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1859 เจ้าหน้าที่ส่งโทรเลขในเมืองบอสตัน และพอร์ตแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถส่งโทรเลขสื่อสารกันได้นานกว่า 2 ชั่วโมง ขณะเกิดแสงขั้วโลก ทั้งๆ ที่เครื่องส่งโทรเลขของทั้ง 2 สถานีนี้ ได้ถูกถอดถ่านออกไปแล้ว

          นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อกันมายาวนานว่า แสงขั้วโลกนั้นมีเสียงด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการยืนยันชัดเจน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2012 นักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลนด์ได้รายงานว่า สามารถบันทึกเสียงลักษณะคล้ายเสียงปรบมือได้ขณะเกิดแสงขั้วโลกที่ความสูงห่างจากพื้นดินประมาณ 70 เมตร

          ปริศนาเรื่องเหตุการณ์ประหลาดที่เกี่ยวพันกับแสงขั้วโลกนั้น มีอีกหลายเรื่องราว และยังคลุมเคลือ แต่เชื่อว่า ความงามของแสงขั้วโลกนั้นมหัศจรรย์เกินกว่าจะห้ามใจ หลายท่านคงปักธงไว้ในใจแล้วว่า ชีวิตนี้จะต้องไป และจะต้องได้เห็นแสงขั้วกับตาตัวเองสักครั้ง



เข้าชม : 595


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      วิทยาศาสตร์ของแป้ง 19 / ก.ค. / 2565
      เรื่อง (ไม่) ลับฉบับกัญชา (แมว) 19 / ก.ค. / 2565
      แสงเหนือ แสงใต้ มหัศจรรย์ของฟากฟ้า 19 / ก.ค. / 2565
      ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ 3 / มี.ค. / 2558
      ประชาคม “อาเซียน” 15 / ม.ค. / 2558