การบังคับมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์
1. แปลงนี้ปลูก มะนาวพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้น อายุประมาณ 4 ปี ทั้งหมด 600 วงในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ
2. การให้น้ำระบบมินิสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้า - เย็น
3. มะนาวจะราคาแพงที่สุดคือช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี ดังนั้นเมื่อเก็บผลผลิตหมดในเดือน
พฤษภาคม ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- ตัดแต่งกิ่ง เด็ดผลที่เหลือบนต้นออก เพื่อบำรุงต้น เร่งการสร้างยอดใหม่ ใบใหม่โดย ผลมะนาวที่คุณภาพดีที่สุดคือผลที่เกิดจากยอดใหม่ ผลที่เกิดจากกิ่งเก่าคุณภาพจะด้อยลงมา ผลที่คุณภาพต่ำสุดคือผลที่เกิดติดกิ่ง หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จใช้ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 ใส่หนึ่งกำมือต่อวง คุณพิชัยให้เหตุผลว่าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ต้นจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร และพบอาการผลเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากอาการม้านแดดมากกว่าปกติ เนื่องจากการให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา
ต้นมะนาวใช้ธาตุอาหารในการเลี้ยงลูกในปริมาณที่มาก
- เพิ่มวัสดุปลูกในวงบ่อเนื่องจากในแต่ละปีวัสดุปลูกจะยุบลง เพิ่มกาบมะพร้าวบริเวณโคนต้น เนื่องจากาบ
มะพร้าวผุพังไปบ้างในปีที่ผ่านมา กาบมะพร้าวเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บรักษาความชื้นได้อย่างดี และยังเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บ
รักษาปุ๋ยที่จ่ายมาทางระบบน้ำก่อนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นมะนาวใช้ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารอัน
เกิดจากการไหลบ่า หรือการระเหย
- การให้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้จากการหมักหอยเชอรี่30 กก. เศษผลไม้ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. เชื้อพด.
2 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สูตรนี้สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 20 - 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรได้ ในส่วนของ
การให้ทางระบบน้ำนั้น เทคนิคคือใช้ปุ๋ยชีวภาพในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำ 1,250 ลิตร ให้ทุก 5 - 7 วัน โดยใน
การให้จะให้ครั้งละ 3 – 5 นาทีเพื่อให้กาบมะพร้าวบริเวณโคนต้นชุ่มก็พอ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตาม รอบปกติ น้ำจะ
ค่อย ๆ ละลายธาตุอาหารลงไปให้ต้นมะนาวใช้ เป็นการจัดการที่ประหยัดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- ในระยะนี้ต้องรักษาใบและยอดให้ดี เนื่องจากมีโรค แมลงที่สำคัญเข้าทำลายในระยะยอดอ่อนถึงเพสลาดคือ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ในเรื่องสารเคมีคุณพิชัยให้แนวคิดว่าบางระยะยังต้องมีการใช้อยู่ แต่ต้องเลือกใช้ในระยะที่
ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือใช้ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 2 เดือน เนื่องจากแปลงเรียนรู้นี้ปลูกทั้งพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้นคละกันไป พันธุ์แป้นอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์มาก
- หลักการใช้สารเคมีในแปลงมะนาว นอกจากเพลี้ยไฟ โรคแคงเกอร์แล้วยังมีโรคและศัตรูอื่น ๆ อีก เช่น หนอนชอนใบ หนอนกัดกินใบ แมลงค่อม โรคยางไหล โรคราเข้าขั้ว การเลือกใช้ชนิดของ
สารเคมีและระยะที่ใช้จึงมีความจำเป็น หากอยู่ในระยะที่ใช้สารเคมีได้ เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบมีสารเคมีที่ คุณพิชัยเลือกใช้ในการป้องกันกำจัดคือ อะบาแม็กติน อัตรา 3 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ( ทั้งนี้อัตราการใช้แล้วแต่ความเข้มข้นของแต่ละบริษัทที่ผลิต ) หากพบการระบาดมากจะใช้สาร อิมิดาคลอพริด อัตรา 3 – 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร แมลงค่อมหรือด้วงปีกแข็งใช้สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 20 – 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเปอร์เมทริน อัตรา 5 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โรคราเข้าขั้วใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซ็บ อัตรา 20 – 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบ็นดาซิม อัตรา 10 – 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ในการฉีดพ่น ทุก 7 - 15 วัน หรือแล้วแต่สภาพการระบาดของโรคแมลง นอกเหนือจาก
ระยะนี้แล้ว 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว คุณพิชัยเลือกใช้น้ำหมักชีวภาพที่มีฤทธิ์ไล่ และกำจัดแมลง โดยใช้น้ำหมักที่หมักจาก
สมุนไพรที่ มีรสเผ็ด ขม เหม็น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บอระเพ็ด สะเดา ใช้สมุนไพรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. พด. 7 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร หมัก 20 วัน นำมาฉีดพ่นในอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20
ลิตรทุก 7 - 15 วัน
- เนื่องจากมะนาว มีอายุ ประมาณ 5 เดือนสามารถเก็บขายได้ในเดือนที่ 6 การวางแผนการบังคับให้ออกนอกฤดู คือต้องทำให้ออกดอก เดือนตุลาคม เดือนกันยายนต้องงดปุ๋ย งดน้ำ จากประสบการณ์ของคุณพิชัยจะเลือกใช้จังหวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 7 – 15 วัน เป็นการงดน้ำไปในตัว เนื่องจากมะนาวแปลงนี้ 600 วง คุณพิชัยจัดการเพียง
คนเดียวจึงไม่สะดวกที่จะเลือกใช้พลาสติกคลุม เพราะพลาสติกก่อให้เกิดไอน้ำเกาะบริเวณผิวด้านในพลาสติก ลดความชื้น
ในดินยาก หากจะให้ได้ผลดี ในวันที่แดดออกต้องแกะพลาสติกออกให้น้ำระเหย หากฝนตกต้องคลุมพลาสติก เป็นการจัดการที่ยากในกรณีที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ
- งดน้ำจนใบเหี่ยว สลด และหลุดร่วงประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเปิดตาดอกในระยะนี้คือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูงเช่น 12 – 24 – 12 หรือ 15 – 30 -15 ปริมาณ 1 กำมือต่อวงรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลาย
- หลังติดดอกแล้วให้น้ำตามปกติเช้า – เย็น เวลาละ 5-10 นาที
- ปุ๋ยทางดินที่คุณพิชัยใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ตลอดฤดูการผลิตคือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักจากเศษพืช มูลสัตว์ กากหอยเชอรี่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดภาวะดินเสื่อมโทรม ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์ อย่างยั่งยืน