[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 
   กลับหน้าหลัก


บทความทั่วไป
วนเกษตรเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

จันทร์ ที่ 21 เดือน มีนาคม พ.ศ.2559

 
ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย" นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม
ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม (วนเกษตร)
 ครูวิบูลย์ เข็มเฉลิม จากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้นคิดของการทำเกษตรแผนใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดทุนของเกษตรกร ด้วยการปลูกพืชหลายชนิดแบบธรรมชาติ สร้างผลผลิต หมุนเวียนให้เกษตรกรไปจำหน่วยได้ตลอดปี ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า วนเกษตร อันเป็นต้นแบบของการ ทำการเกษตรแผนใหม่ แก้ไขปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรในปัจจุบันของประเทศไทย
        เกิดที่อำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ปี พ.ศ. ๒๔๗๙  พ่อแม่เป็นชาวนา ภรรยาชื่อ สมบูรณ์ มีบุตร ๓ คน เข้ามาเป็นแรงงานเด็กในเมือง เรียนจบ ม.๖ เริ่มต้นชีวิตในช่วงปี ๐๔ สนใจเรื่องความร่ำรวย คิดอยากรวย เรื่อยมาจนถึงปี ๒๔ ก็จบ เหตุที่ทำให้ผมกลายเป็นคน มีหนี้สินล้นพ้นตัว จากที่ดินที่สะสมมา ๒๐๐-๓๐๐ ไร่ ต้องนำไปขาย ใช้หนี้ จนเหลือที่ดิน ประมาณ ๑๐ ไร่ หันมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเรียนรู้ วิถีแบบใหม่ ทำให้ได้เข้าใจอะไร บางอย่าง ที่ขาดหาย ที่สูญเสียไป และทำใหม่ให้มันกลับคืนมา เปลี่ยน มาเรียนรู้ว่า ทำอย่างไร จะรู้จักตัวเอง มากขึ้น 
        จากที่ดินเกือบ ๑๐ ไร่ ชาวบ้านมาขายเพิ่มให้อีก ๔ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินติดกัน ก็เห็นความจำเป็นว่า ควรซื้อ ทั้งที่ ผมไม่มีความคิดจะขยายที่ดินเพิ่มมาก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนตัว ที่ต้องการพิสูจน์ ให้เห็นจริงๆ ว่า ที่ดินเท่าที่มีอยู่ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว เพราะหลายคนคิดว่า ที่ดินแค่ ๑๐ ไร่ น้อยเกินไป ไม่พอกิน และเมื่อมีลูกหลาน ก็จำเป็นต้องกระจายที่ดินย่อยไปเรื่อยๆ ตามจำนวน ลูกหลาน ที่เพิ่มขึ้น และครอบครัวที่ขยายขึ้น
        "ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ ผมว่าการที่เรามีที่ดินน้อย ถึงมีลูกหลาน เพิ่มอีก หลายคน เราก็ไม่จำเป็นต้องนำที่ดินมาซอยเป็นรายย่อย ให้กลายเป็นคนละไร่สองไร่ และก็ทำกินกันไม่ได้ นึกถึงคนจีน สมัยเก่าไหมว่า เขาใช้ระบบกงสี ก็คือระบบการรวม โดยไม่ได้แบ่งอะไร ให้ใครเลย ทุกคนมีสิทธิ ทำให้มันเกิด ประโยชน์ขึ้นมา และแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ผมเชื่อว่าถึงจะมีลูกเต้า หรือลูกหลาน สัก ๑๐-๒๐ คน ที่ดิน ๑๐ ไร่นี้ ถ้ามีวิธีจัดการที่ดี ก็จะพอกินทั้งหมด นี่คือวิธีที่ผมคิด จึงไม่เห็น ความจำเป็น ในเรื่องจะขยาย ที่ดินเพิ่ม"
        จากช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๒๔  ๒๐ ปี การทำเกษตรแบบธุรกิจ จนที่ดินหมด ๒๐๐-๓๐๐ ไร่ และอีก ๒๐ ปีให้หลังกับที่ดินที่เหลือประมาณ ๑๐ ไร่ ที่เราทำบนความรู้ความเข้าใจ และมีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง สามารถเข้าใจทรัพยากร และจัดการเป็น ก็ไม่สร้างหนี้อะไรอีก และไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะมีเงินมากน้อย หรือไม่มีเงิน ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเรามีพออยู่พอกินได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ถึงมีเงิน ก็ไม่เสียหายอะไร ทำให้เราได้ทำอะไรมากขึ้น สะดวกขึ้น เวลาใช้ไปก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ต้อง ไปสร้างภาระ ให้กลายเป็นหนี้เป็นสินขึ้นมาอีก หมดปัญหาถ้าเราจัดการเป็น
การถ่ายทอดความรู้
ในปัจจุบันครูวิบูลย์ได้เผยแพร่แนวความคิดในเรื่องวนเกษตร แก่ผู้ที่สนใจโดยทั่วไป ผู้ที่สนใจเรียนรู้ ได้แก่
  • นักเรียนในท้องถิ่น
  • กลุ่มเยาวชน
  • นักศึกษา
  • นักวิชาการ
  • กลุ่มผู้นำจากหมู่บ้านต่าง ๆ
เนื้อหาการถ่ายทอดความรู้
    สำหรับเนื้อหาการถ่ายทอดความรู้นั้น ครูวิบูลย์เน้นในเรื่องการจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเน้นในเรื่องการเกษตรกรรม วนเกษตรที่ปลูกพืชอย่างหลากหลาย โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเนื้อหาการถ่ายทอดความรู้ ด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้ 
    1. สวนวนเกษตร มีต้นไม้กว่า 500 ชนิด ทั้งที่เป็นอาหาร ยา ไม้ใช้สอย เป็นระบบที่ลักษณะคล้ายป่า มีสัตว์ประเภท นก กระแต ฯลฯ มาอาศัยร่วมด้วยลักษณะทั่วไปจึงเหมาะแก่การเข้ามาศึกษาเรื่องต้นไม้ และธรรมชาติของนักเรียนและประชาชนทั่วไป 
    2. ห้องหนังสือ รวบรวมหนังสือประเภทต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เกษตรกรรม สุขภาพ สมุนไพร ต้นไม้ การพัฒนา ประวัติศาสตร์ วารสาร ฯลฯ มักจะมีนักเรียน และคนทั่วไปเข้ามาใช้ในการศึกษาหาข้อมูล รวมทั้งเป็นที่ศึกษาข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในสวนเองด้วย 
    3. ลานค้าริมทางชุมชน เป็นเวทีการเรียนรู้เรื่องการค้าขายและการแปรรูปของเกษตรรายย่อยในละแวกนั้น ขณะนี้มีประมาณ 30-50 ราย โดยมีผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษา
การดำเนินกิจกรรมหลัก ๆ ก็คือ สมาชิก ของลานค้าริมทางชุมชน (ตลาดนัดริมทาง) มักจะพูดคุยกันเสมอ ๆ เมื่อไม่มีลูกค้า หรือหลังตลาด เลิกแล้วคือ เรื่อง พืชผักพื้นบ้าน การปลูกผักปลอดสารพิษ การแปรรูป ตลอดจนการค้าการขาย ลานค้าริมทางมีนัดกันทุกเสาร์-อาทิตย์ 
การประเมินผล ดูจากคนที่เข้ามา หรือแวะซื้อมีจำนวนมากหรือไม่ ถามความรู้สึกว่า เขามีความรู้สึกอย่างไร สำหรับแม้ค้าก็จะซักถามกันเรื่อง รายได้ ทัศนคติการค้าขาย ฯลฯ จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์
    4. วนเกษตร เป็นศูนย์กลางช่วยประสาน เครือข่ายป่าตะวันออก มีครูเป็นที่ปรึกษา มีเจ้าหน้าที่ 4 คน กลุ่มที่ประสานงานประกอบด้วย 
        4.1 ชมรมศึกษาและอนุรักษ์ป่าตะวันออก
        4.2 ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร มีกิจกรรมเวทีชาวบ้าน เครือข่ายวนเกษตร ทุกเดือน (ปัจจุบันมีสมาชิก 7 หมู่บ้าน)
        4.3 โครงการศึกษาพรรณพฤกษาชาติป่าตะวันออก 
    5. แปลตำรายา นำตำรายาเก่ามาคัดลอกใหม่ ให้เป็นภาคปัจจุบัน และทดลองทำยา ทำยาบางตัวเพื่อแจกจ่ายไปทดลองใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 
    6.ค่ายเยาวชน โรงเรียนในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง สถานที่ใช้สวนวนเกษตร โดยใช้สวนเป็นสื่อในการสัมผัสธรรมชาติของเด็ก ๆ เชื่อมโยงไปยังเรื่องคุณค่าของสรรพสิ่ง เช่น ต้นไม้ นก เป็นต้น กิจกรรมที่ใช้ให้เยาวชนลงมือทำเอง สัมผัสเอง เช่น การย้อมผ้าด้วยใบไม้ สื่อเรื่องสิ่งแวดล้อม และกระบวนการของธรรมชาติ หรือ กิจกรรมทำยาอย่างง่าย การอบรมเด็กในเรื่องคุณค่าของต้นไม้ ซึ่งกิจกรรมทั้งสองนี้เน้นให้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า ที่ต้องใช้เวลาในการสังเกต ทดลอง และสะสมเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ
    การเรียนรู้ของครูวิบูลย์ เข็มเฉลิม นั้นเป็นการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์ตรง ใช้ความล้มเหลว ของตัวเองเป็นตัวตั้งในการค้นหาความรู้ใหม่ เมื่อพบวิธีการทำเกษตรแบบวนเกษตรแล้ว ก็ได้ ทดลองจนได้ข้อสรุปที่เด่นชัดว่า วนเกษตรสามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้ ก็เผยแพร่ความรู้ ให้เป็นวิทยาทานแก่เยาวชนและผู้สนใจเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาดังกล่าวเพื่อจะได้นำไปใช้แก้ปัญหา ของตนเองและชุมชน
สถานที่ติดต่อ
นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม ด้านเกษตรกรรม (วนเกษตร)
สวนวนเกษตรห้วยหิน 224 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต 
จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160 โทรศัพท์ (038) 597-441

เข้าชม : 652

บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      แหล่งเรียนรู้ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดสนามชัยเขต 12 / เม.ย. / 2559
      วนเกษตรเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม 21 / มี.ค. / 2559


กศน.ตำบลลาดกระทิง   เลขที่  224  หมู่ที่  4  ตำบลลาดกระทิง  อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
โทรศัพท์ 089-723-3599  E-mail : nfe.ladkrating@hotmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04tb    Admin