กศน.แปดริ้ว นิเทศการจัดการเรียนรู้รายสัปดาห์ โดยใช้สื่อรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้ ทาง ETV
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 นายอนุชา พงษ์เกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดฉะเชิงเทรา มอบหมายให้นางวัชรินทร์ ศรีณิบูลย์ ศึกษานิเทศก์ และ นางสาวอัจฉรา ธัญยาธีรพงษ์ นักวิชาการศึกษา นิเทศการจัดการเรียนรู้รายสัปดาห์ โดยใช้สื่อรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้ ทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา(ETV) ของ กศน.อำเภอสนามชัยเขต โดยมีนางอุบล ดีรัศมี ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอสนามชัยเขต นางเตือนจิตร ราศีมีน ครู คศ.3 และนางสาวศิริพร สุริวงค์ บรรณารักษ์ ของ กศน.อำเภอสนามชัยเขต ร่วมนิเทศในครั้งนี้ด้วย
การนิเทศครั้งนี้ ดำเนินการนิเทศการจัดการพบกลุ่มจำนวน 4 แห่ง มีการพบกลุ่มโดยใช้สื่อรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1. กศน.ตำบลท่ากระดาน มีจำนวนนักศึกษาที่มาพบกลุ่ม 32 คน
2. ศรช.บ้านนา ตำบลท่ากระดาน มีจำนวนนักศึกษาพบกลุ่ม จำนวน 31 คน
3. กศน.ตำบลทุ่งพระยามีจำนวนนักศึกษาพบกลุ่ม จำนวน 26 คน
ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ ศรช.บ้านนายาว เป็นนักศึกษาระดับม.ต้น จึงไม่มีการใช้สื่อรายการดังกล่าว
สภาพที่พบจากการนิเทศ พบว่า ทุกแห่งที่มีการใช้สื่อรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้นั้น มีจุดเด่นคือ สถานที่พบกลุ่มส่วนใหญ่มีความพร้อมทั้งสถานที่ มีการดูแลที่สะอาดเรียบร้อย วัสดุอุปกรณ์มีความพร้อม เช่น คอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต เป็นต้น นักศึกษาทุกคนแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ครูมีสื่อการสอนที่หลากหลาย มีการแยกระดับการพบกลุ่มชัดเจนทุกกลุ่ม
ครูมีการเตรียมความพร้อมของตนเองก่อนจัดกระบวนการเรียนรู้ ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ มีสื่อการสอนที่หลากหลาย เช่น ใบงาน ใบความรู้ แบบทดสอบก่อนเรียน มีแผนการสอนและปฏิทินการพบกลุ่มแต่ยังไม่ได้มีการบูรณาการแผนการสอนกับเนื้อหาการออกอากาศของรายการตามรายวิชา ส่วนรายวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ยังขาดการเตรียมความพร้อมในการรับชมรายการ
การเตรียมความพร้อมของนักศึกษามีการเกริ่นนำเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ที่จะรับชมรายการ มีการอธิบายเนื้อหาหลักของบทเรียนก่อนการรับชมรายการ และให้นักศึกษาเนื้อหาเบื้องต้นจากแบบเรียนก่อน ระหว่างชมรายการครูมีการสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาและคอยกระตุ้นเตือนนักศึกษาให้ตั้งใจฟังและจดบันทึกในประเด็นสำคัญ มีแบบสังเกตพฤติกรรม หลังรับชมรายครูมีการทบทวนเนื้อหาที่ได้รับชมรายการ มีการเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักศึกษา ส่วนวิธีวัดและประเมินผลนักศึกษานอกเหนือจากแบบทดสอบคือการตั้งคำถามหลังชมรายการ
จากการสัมภาษณ์และสอบถามครูและนักศึกษาพบว่า มีความพึงพอใจในการใช้สื่อรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพราะทำให้มีความรู้เนื้อหาเรื่องที่ชมง่ายขึ้น นักศึกษาสามารถอธิบายเนื้อหาที่ได้รับชมได้ นักศึกษาชอบที่จะให้ครูอธิบายเนื้อหาเพิ่มเติมหลังจากชมรายการเพราะจะทำให้มีความเข้าใจในเรื่องที่ชมยิ่งขึ้น และถ้าข้อสอบออกตามรายการที่ได้ชมมีความมั่นใจว่าจะสามารถทำข้อสอบได้
เข้าชม : 6665
|